สังคม

ปทุมฯ เสริมแนวคันกั้นน้ำ เตรียมรับมือน้ำจากทุ่งเจ้าเจ็ด ป้องกันทะลักท่วมชุมชน

โดย panisa_p

18 ต.ค. 2565

294 views

จากจุดที่ผมยืนอยู่นี้ถ้าถามว่าน้ำจะหลากไปทางไหนต่อหากไม่สามารถควบคุมได้ น้ำก็จะไหลไปตามคลองเจ้าเจ็ด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วก็จะเข้าสู่จังหวัดปทุมธานีในทันที ซึ่งตอนนี้ระดับน้ำตามคลองที่เชื่อมต่อมา เพิ่มสูงกว่า 15 เซนติเมตรแล้ว ล่าสุดทางจังหวัดปทุมธานีก็ได้เร่งเสริมคันกั้นน้ำตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่หลากลงมาล้นเข้าสู่ชุมชน


เทศบาลตำบลลาดหลุมแก้วได้เตรียมพร้อมแนวคันดินไว้ รองรับบิ๊กแบ๊ก และ แบริเออร์ สนับสนุนจากองค์การบริหารจังหวัดปทุมธานี มาเสริมแนวกั้นน้ำตลอดระยะทางกว่า 12 กิโลเมตร ของ 2 ฝั่งคลองชลประทานในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ให้ได้ความสูง 150 เซนติเมตร หลังประเมินแล้วว่ามวลน้ำจากอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และต้องจับตาเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงนับจากนี้


ซึ่งหากน้ำเกิดทะลักหรือแนวคันกั้นน้ำแตกขึ้นมา ก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก และอำเภอเมืองในบางส่วนทันที มวลน้ำก้อนนี้ก็จะไหลงสู่คลองพระอุดม และย้อนกลับเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง


แต่สำหรับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเองตอนนี้ก็สูง จนทำให้หลายจุดในจังหวัดปทุมธานีเกิดน้ำทะลักเข้าชุมชน โดยเฉพาะชุมชนริมน้ำหมู่ 3 ในตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก ที่ชุมชนกว่า 100 ครัวเรือนต้องอยู่กับน้ำลักษณะนี้มานานเกือบ 2 เดือน ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม และระดับน้ำเป็นรองเพียงปี 54 เท่านั้น พวกเขาจึงต้องมาใช้เรือสัญจรไปทำกิจกรรมต่างๆ แทนในตอนนี้


จุดที่น่ากังวลอีกจุดของจังหวัดปทุมธานี อยู่บริเวณหมู่ 3 ตำบลบางคูวัด อำเภอเมืองจังหวัด ปทุมธานี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทะลักลอดใต้ถนนเข้ายังพื้นที่ชุมชน เมื่อ 3 วันที่แล้ว ตอนนี้ทางเทศบาลบางคูวัดได้นำบิ๊กแบ๊กเข้ากั้นเปลี่ยนเส้นทางน้ำให้น้ำกลับลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 50,000 คน


นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ระบุว่า สถานการณ์น้ำจังหวัดปทุมธานีในตอนนี้ถือว่าควบคุมได้แล้ว หากการปล่อยน้ำจากเขื่อนยังคงที่ที่ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ก็ยังต้องจับตาสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น กรณีที่ อ.เสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อ


สำหรับจังหวัดปทุมธานีตอนนี้พ้นช่วงจุดน่ากังวลของระดับน้ำทะเลหนุนสูงที่สุดไปแล้ว ทำให้จากนี้ต้องเฝ้าสถานการณ์ของน้ำเหนือที่จะหลากลงมาสมทบกับมวลน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นพิเศษ โดยจะคอยสนับสนุนความช่วยเหลือให้กับชาวบ้านในเขตริมน้ำเป็นจุดแรก


ล่าสุดปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลงแล้ว ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาปรับลดการระบายน้ำลงมาต่ำกว่า 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีได้ ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปรับลดจาก 440 มาเป็น 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้การระบายน้ำในภาพรวมลดลงจาก 38 ล้าน มาเป็น 34.56 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

คุณอาจสนใจ

Related News