เศรษฐกิจ

ทรู-ดีแทค ยื่นหนังสือเร่งรัด กสทช. ตัดสินดีลควบรวม หวั่นกระทบธุรกิจ-ผู้บริโภค

โดย petchpawee_k

12 ต.ค. 2565

25 views

วานนี้ (  11 ต.ค.)  นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และนายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ กสทช. โดยมี พล.อ.กิตติ เกตุศรี ผู้ปฏิบัติงาน ส่วนงานประธาน กสทช. เป็นผู้แทนรับมอบ โดยหนังสือระบุเรื่องขอให้ กสทช.พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว


หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู กล่าวว่า สำหรับการประชุมของบอร์ด กสทช.ในวันที่ 12 ตุลาคม คาดว่าจะยังไม่ได้ข้อยุติและยังไม่มีการตัดสินใจอย่างชัดเจนในเรื่องการควบรวมธุรกิจทรูและดีแทค จึงได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงประธาน และคณะกรรมการ กสทช.ทุกท่าน ให้ช่วยเร่งรัดการพิจารณาการควบรวม


เนื่องจากหลังวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา บริษัท ทรู และดีแทค เป็นผู้ขอควบรวมธุรกิจได้ยื่นเอกสารต่อ กสทช. ตามกฎหมายและประกาศของ กสทช.ทุกขั้นตอน แต่เวลาล่วงเลยมาถึงวันนี้ โดยที่ไม่มีบทสรุปอย่างเป็นทางการจาก กสทช. ซึ่งกังวลว่าหากปล่อยเวลาให้ยืดยาวจะเกิดผลกระทบต่อบริษัท และผู้บริโภค เพราะแทนที่ผู้บริโภคจากของทรูและดีแทคจะได้ใช้บริการร่วมกันก็ยังไม่สามารถใช้บริการได้ ดังนั้น จึงมาขอความเป็นธรรมกับ กสทช. ให้ช่วยเร่งรัดการพิจารณา


ขณะเดียวกันยืนยันว่า การควบรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เนื่องจากลูกค้าจะสามารถใช้คลื่นที่เป็นโครงข่ายร่วมกันได้ แม้จะมีข้อกังขาเรื่องเงื่อนไขที่ห้ามไม่ให้ผู้ขอควบรวมใช้โครงข่ายร่วมกันนั้น ก็ต้องมาดูเรื่องการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นหลักการตามประกาศปี 2561 ข้อ 12 ที่กำหนดว่าหาก กสทช.พิจารณาว่าถ้ามีการควบรวมธุรกิจแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น ภายใต้อำนาจที่ กสทช.มีก็สามารถกำหนดมาตรการให้ผู้ขอควบรวมได้ปฏิบัติตามหลังจากที่มีการอนุมัติให้มีการควบรวมแล้ว


ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า มีเสียงก้ำกึ่งระหว่างเห็นด้วยให้ควบรวม กับไม่เห็นด้วยให้ควบรวม 2:2:1  โดย 2 เสียงเห็นด้วยกับการควบรวม 2 เสียงไม่เห็นด้วยกับการควบรวม และอีก 1 เสียงอาจจะแค่เซ็นลงนาม รับทราบผลที่ออกมาเท่านั้น

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/bZmEpdYUMT0

คุณอาจสนใจ

Related News