อาชญากรรม

เหยื่อ 'หลานอดีตรมต.' ร้อง 'สมศักดิ์' เสนอให้เพิ่มโทษผู้กระทำความผิดทางเพศ

โดย paweena_c

1 ก.ย. 2565

58 views

ทนายตั้มพาหญิงสาวผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จาก 3 คดี เข้าพบนาย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเสนอให้เพิ่มโทษผู้กระทำความผิดทางเพศ


นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความ พร้อมผู้เสียหายคดีล่วงละเมิดทางเพศ 3 คดี ได้แก่ นักแสดงสาววัย 26 ปี ที่ถูกตำรวจ ยศ พันตำรวจตรี สน.บางพลัด ทำอนาจาร ดาราสาววัย 22 ปี ที่ถูกหลานอดีตรัฐมนตรีล่วงละเมิดทางเพศ และผู้เสียหายที่ถูกอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ล่วงละเมิดทางเพศ เข้าพบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อยื่นหนังสือขอให้เพิ่มโทษผู้กระทำผิดทางเพศ และหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ


ทนายษิทรา กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา มีหญิงสาวผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อในคดีทางเพศจำนวนมาก ซึ่งผู้ก่อเหตุส่วนมากเป็นผู้มีชื่อเสียง มีอิทธิพล อาจใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ได้เกรงกลัวกฎหมาย กระทำผิดซ้ำหลายครั้ง ผู้เสียหายหลายคนจึงกังวลว่า หากผู้กระทำความผิดพ้นโทษออกมาแล้ว จะมากระทำผิดซ้ำอีก จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ช่วยหาแนวทางแก้ปัญหา ให้ผู้กระทำผิดหลาบจำ และป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำอีก


ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวว่า เรื่องการควบคุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ สอดคล้องกับร่างกฎหมาย เจซอก (JSOC) ที่กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำเกี่ยวกับเรื่องเพศและความรุนแรงไป


ใจความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ เมื่อผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคดีทางเพศและความรุนแรงพ้นโทษแล้วผู้เสียหายจะยังสามารถยื่นเรื่องต่อศาล ขอให้ควบคุมผู้กระทำความผิดหลังพ้นโทษได้อีกสูงสุด 10 ปี โดยการติดกำไลอีเอ็ม เพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรม ในระหว่างที่ติดกำไลอีเอ็มแล้วพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำเกิดขึ้น ก็จะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดไปคุมขังฉุกเฉินทันทีได้สูงสุด 3 วัน และระหว่างนั้นสามารถขอคำสั่งศาลให้นำตัวผู้กระทำผิดเข้าไปคุมขังในสถานที่คล้ายกับเรือนจำได้สูงสุด 3 ปี


ส่วนเรื่องการฉีดไข่ให้ฝ่อนั้น เป็นมาตรการฟื้นฟู ที่จะทำเพื่อลดความต้องการทางเพศ แต่ไม่สามารถทำโดยพลการได้ โดยขณะผู้กระทำผิดถูกจำคุก จะมีแพทย์ร่วมประเมินร่างกายของผู้กระทำความผิดว่าจำเป็นต้องทำหรือไม่ และผู้กระทำความผิดก็ต้องยินยอมด้วย ตามหลักของสิทธิมนุษยชน


ขณะนี้ ร่างกฎหมาย เจซอก (JSOC) ได้ผ่านการพิจารณาของสภาแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนรอประกาศบังคับใช้


คุณอาจสนใจ

Related News