สังคม

ต้นทุนสร้างบ้านครึ่งปีหลังแพงขึ้น 3% คาดเหตุค่าแรง-ปูนซีเมนต์ขึ้น กระทบผู้สร้างบ้านต่ำกว่า 5 ล้าน

โดย chutikan_o

22 ส.ค. 2565

46 views

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านคาดค่าแรง-ปูนซีเมนต์แพงดันราคาสร้างบ้านขึ้น 3% เตรียมจัดงานใหญ่ปลุกกำลังซื้อปลายปี ดันมูลค่าธุรกิจแตะ 12,500 ล้านบาท ใกล้เคียงภาวะปกติก่อนมีโควิด


นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงต้นปีนี้ แต่มาถึงกลางปีราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลดลง ทำให้ปัจจุบันราคาวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่เริ่มทรงตัว แต่ที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องคือซีเมนต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของคอนกรีต ข้อคอนกรีต กระเบื้องมุงคา เป็นต้น เพราะต้นทุนราคาถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานหลักในการผลิตซีเมนต์แพงขึ้น ส่งผลให้ราคาซีเมนต์สูงขึ้นจากต้นปีจนถึงตอนนี้เฉลี่ย 5% และเมื่อมารวมค่าแรงที่จะถูกปรับขึ้น คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ส่งผลให้ภาพรวมต้นทุนการก่อสร้างบ้านทั้งหลังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ซึ่งจะกระทบกับผู้บริโภคที่สร้างบ้านราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทลงมา เพราะอ่อนไหวกับราคามาก แต่กลุ่มราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ไม่กระทบ เพราะมีความต้องการสร้างมาก มีความพร้อม ไม่ได้ใช้เงินกู้มากนักและกลับมองว่าถ้ารอไปอีก ราคาอาจสูงขึ้นก็ได้

ทั้งนี้ กลุ่มผู้บริโภคในธุรกิจรับสร้างบ้านปีก่อนหน้า กลุ่มสร้างบ้านราคา ต่ำกว่า 5 ล้านใหญ่สุด สัดส่วน 58% แต่ปีนี้คาดว่าลดลงเพราะวัสดุก่อสร้างแพง อัตราดอกเบี้ยขึ้น จึงอาจชะลอไปก่อน ส่วนในกลุ่มที่สร้างบ้านราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป กลับมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 45% จาก 35% ในปีก่อน และคาดการณ์มูลค่าธุรกิจรับสร้างบ้านปี 65 อยู่ที่ 12,500 ล้านบาท ใกล้เคียงปี 62 ซึ่งยังไม่มีโควิดบาด โดยเตรียมปลุกกำลังซื้อส่งท้ายปี จัดใหญ่งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022 “สร้าง-เปลี่ยน-โลก” ตั้งเป้ายอดจองปลูกสร้างบ้านภายในงาน 3,500 ล้านบาท จาก 35 บริษัทรับสร้างบ้าน คาดผู้เข้าชมงาน 10,000 ราย จัดขึ้นในวันที่ 14-18 กันยายน 2565 นี้ ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 6 เมืองทองธานี

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจสร้างบ้านคือ โรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และเสถียรภาพการเมือง ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย

ส่วนกรณีเรื่องกฎหมายการเพิกถอนสิทธิในที่ดินหากเจ้าของปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลา 5 ปีติดต่อกัน หรือทอดทิ้งที่ดินไม่ทำประโยชน์ 10 ปีติดต่อกันที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวถึงนั้น มองว่าอาจไม่ได้มีประโยชน์อะไร เพราะเจ้าของก็เสียภาษีอยู่แล้ว และไม่แน่ใจว่ารัฐจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร อีกทั้งบางคนอาจเก็บไว้เป็นมรดกเพื่อให้ลูกหลานสร้างเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำกิน บางคนเก็บไว้นาน 10-20 ปีจึงไม่เหมาะที่จะนำกฎหมายมาใช้ตอนนี้

คุณอาจสนใจ