สังคม

‘กรมอนามัย’ ร่วมกับ ‘ทันตแพทย์สมาคมฯ’ จัดกิจกรรม ลดนักสูบหน้าใหม่เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก

โดย JitrarutP

31 พ.ค. 2565

37 views

วันนี้ (31 พ.ค. 65) เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประกวดและมอบรางวัลคลิป “ปฏิเสธบุหรี่มวนแรก” ผ่านสัญลักษณ์ “NoNo กระต่ายขาเดียว ยืนยัน มั่นใจไม่สูบ” เพื่อกระตุ้นเยาวชน  ให้กล้าปฏิเสธบุหรี่เมื่อถูกชักชวน



โดย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จาการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ทาง กรมอนามัยร่วมมือกับทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในโรงเรียนประถมศึกษา รณรงค์ไม่ให้สูบบุหรี่ ผ่านสัญลักษณ์ “NoNo กระต่ายขาเดียว ยืนยัน มั่นใจไม่สูบ” เพื่อกระตุ้นให้เด็กประถมศึกษามีความสนใจ ตระหนักถึงพิษภัยและโทษของการสูบบุหรี่ ส่งเสริมแนวคิดปฏิเสธบุหรี่อย่างไรไม่เสียเพื่อน สนับสนุนให้เด็กกล้าที่จะปฏิเสธบุหรี่ เมื่อถูกชักชวน เน้นที่เด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวัยรุ่นเพราะเป็นวัย ที่กำลังอยากรู้ อยากทดลอง



โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 1,073 โรงเรียน และมีนักเรียนเข้าร่วม จำนวน 22,574 คน ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาในครั้งนี้ จำนวน 3 รางวัล



“ทั้งนี้ข้อมูล ระบุ ผลเสียจากการเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่วัยเด็กที่สมองยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ สมองจะถูกกระตุ้นด้วยนิโคตินทำให้เด็กเสพติดได้ง่าย และจะกลายเป็นผู้ติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต




ทางด้าน ทันตแพทย์อดิเรก ศรีวัฒนาวงศา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การรณรงค์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของวิชาชีพทันตแพทย์และทีมทันตบุคลากร เนื่องจากปัญหาการเริ่มสูบบุหรี่ในเด็กส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก สุขภาพร่างกาย และสติปัญญา



ทางด้าน ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน จึงได้ร่วมสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานของหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ในการเสริมกิจกรรมเสริมหลักสูตรเรื่องทักษะปฏิเสธบุหรี่ของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยม เพื่อการส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่ออกแบบตามหลักวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ ด้วยการสร้างความตระหนักค่านิยมให้เด็กเกิดการซึมซับทางความคิดจนรู้เท่าทัน เกิดภูมิคุ้มกันตนเองที่เข้มแข็งในการปฏิเสธบุหรี่





ขณะที่ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส .โดย นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก กล่าวว่า จากการทำงาน ขับเคลื่อนพื้นที่รูปธรรมเขตปลอดบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้ 1.โรงเรียนปลอดบุหรี่ 2.สถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ 3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ 4.สถานประกอบการปลอดบุหรี่ 5.วัดปลอดบุหรี่ 6.ชายหาดปลอดบุหรี่ และ 7.การขับเคลื่อนและผลักดันพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ในอาคารชุด คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เพื่อให้คนไทยมีอากาศบริสุทธิ์ได้หายใจ



“แม้การดำเนินงานควบคุมยาสูบของไทยมีความก้าวหน้า แต่อัตราการสูบบุหรี่ยังคงสูง ผลการสำรวจล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบคนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ผู้ชายสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงถึง 20 เท่า แม้ผู้สูบบุหรี่จะมีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน แต่ยังบรรลุตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2565-2570) ที่กำหนดลดคนสูบบุหรี่ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 14% ภายในปี 2570 รวมถึงเป้าหมายการลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Global NCDs Target) ที่กำหนดให้มีผู้สูบบุหรี่ไม่เกิน 15% ภายในปี 2568”

คุณอาจสนใจ

Related News