สังคม
WHO เตือนโควิดระบาดรุนแรงอีกครั้ง - 'หมอประสิทธิ์' ย้ำยังไม่เข้าข่ายโรคประจำถิ่น
โดย pattraporn_a
25 เม.ย. 2565
133 views
แพทย์ศิริราชฯ ชี้ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในไทยและทั่วโลก ยังไม่ใช่ช่วงขาลง ที่จะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ และยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก ได้ออกประกาศเตือนว่ามีแนวโน้มที่การระบาดจะรุนแรงขึ้นอีก
ตัวเลขยืนยันผู้ติดเชื้อโควิด 19 สะสมทั่วโลกในขณะนี้คือ 509,542,737 โดยสายพันธุ์ของเชื้อที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน คือ สายพันธุ์เดลต้า และ สายพันธุ์โอมิครอน ที่กำลังจะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในเร็วๆ นี้
ทวีปที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด ยังอยู่ในแถบยุโรป ตามมาด้วยอเมริกา และ เอเชีย ซึ่งจุดสูงสุดของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดเกิดจากโอมิครอน และอยู่ในช่วงลดลง มีเพียงกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ แปซิฟิก ที่เพิ่งผ่านจุดพีคเข้าสู่ช่วงขาลง โดยทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันมากแล้วจำนวนหนึ่ง
ขณะที่ ประเทศไทย ติดเชื้อวันละกว่า 2 หมื่นคน เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 100 คนต่อวัน โดยประชากรกว่า 70 ล้านคน มีได้รับวัคซีนโควิดเข็มแรก แล้วราว 132 ล้านโดส แต่มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพียง 36.6% เท่านั้น ยังห่างไกลจากเกณฑ์มาตรฐานที่ 50% จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากต้องการให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงมาอยู่ในหลักสิบ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบเริ่มคงที่ ซึ่งหากจำนวนคงที่ ก็จะทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลงใน 1-2 สัปดาห์
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกและไทยยังไม่เข้าสู่โรคประจำถิ่น แต่กำลังเข้าสู่ปลายทางของช่วงโควิด
สอดคล้องกับคำเตือนขององค์การอนามัยโลก WHO เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า โควิด-19 ยังไม่เข้าสู่สถานการณ์เป็นโรคประจำถิ่นได้ แม้จะมีแนวโน้มความรุนแรงจะลดลง และอาจเกิดการกลายพันธุ์ตามมา จนทำให้เกิดการระบาดใหญ่ได้อีก
สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้ากำหนดให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ภายใน วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ แต่นั่นก็ขึ้นกับปัจจัยหลายข้อ เช่น จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ศักยภาพของระบบบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กระทรวงต้องทบทวนอีกครั้งในด้านความพร้อมของ มาตรการ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการ ก่อนจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในไทย