เศรษฐกิจ

ก.พลังงานย้ำชัด 1 เม.ย.นี้ ขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม กก.ละ 1 บาท วอน ปชช.ลดใช้พลังงานลง 10%

โดย nicharee_m

11 มี.ค. 2565

90 views

กระทรวงพลังงานย้ำชัด 1 เมษายนนี้ จำเป็นต้องขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกก.ละ 1 บาท จากถัง 15 กก. ราคา 318 บาท ขึ้นเป็น 333 บาท ขณะที่ค่าเอฟที ปรับขึ้ น 16 สต./หน่วย เริ่ม 1 พ.ค. ส่วนดีเซลตรึงต่อ 30 บาทตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล พร้อมวอนประชาชนลดใช้พลังงานลง 10% ช่วยชาติ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ชี้แจงสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีความผันผวนในระดับสูง รวมถึงมาตรการของรัฐในการดูแลค่าครองชีพด้านพลังงานของประชาชน โดยยอมรับว่าสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี

แม้วันนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบ จะลงมาเหลือ 115.49 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เบรนท์ ลดลงเป็นวันที่ 2 เหลือ 109.33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ก็ถือว่ายังผันผวนในระดับสูงและต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแบบวันต่อวัน พร้อมคาดการณ์หากสถานการณ์ตึงเครียดยืดเยื้อ อาจทำให้เดือนเมษายนนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบอาจพุ่งเกิน 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดีเซล 150 – 170 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สำหรับมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน กระทรวงพลังงานยืนยันว่า จะยังตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อเนื่องที่ระดับ 30 บาทต่อลิตรต่อไป ภายใต้วงเงินที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ขยายวงเงินให้กองทุนน้ำมันสามารถกู้เพิ่ม จาก 30,000 ล้านบาท เป็น 40,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เงินกองทุนน้ำมันชดเชยราคาน้ำมันดีเซลแล้ว 23,986 ล้านบาท หรือ เฉลี่ย 14 บาทต่อลิตร โดยฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ ล่าสุดเหลือเงิน 7,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับที่ได้รับขยายวงเงินมาอีก 10,000 ล้านบาท เท่ากับยังมีวงเงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลได้อีก 17,000 ล้านบาท คาดว่าจะประคองราคาได้จนถึง พ.ค. นี้

ทั้งนี้หากสถานการณ์ยืดเยื้อ และราคาน้ำม้นโลกยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ สภาพัฒน์ จะมีการพิจารณาหามาตรการเพิ่มเติมเข้ามาเสริม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ และติดตามสถานการณ์รายวัน ส่วนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มมอเตอร์ไซค์ที่ใช้เบนซิน ยังคงอยู่ระหว่างหาแนวทางช่วยเหลือ โดยบอกว่าต้องใช้เวลาอีกระยะ

สำหรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะยังตรึงราคา 318 บาทต่อกก. ไปจนถึง 31 มี.ค. 65 ตามมาตรการเดิม แต่ หลังจากนั้น 1 เมษายน จำเป็นต้องมีการปรับขึ้นราคาเป็นขั้นบันได โดยก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี.) ขนาดถัง 15 กก. จะปรับขึ้นราคาจาก 318 บาท เป็น 333 บาท หรือเฉลี่ยขึ้นกก.ละ 1 บาท หลังจากที่ตรึงราคามาเป็นเวลานานจากช่วงปี 63 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกเฉลี่ย 400 เหรียญต่อตัน

ขณะนี้เพิ่มมาอยู่ที่ 968 เหรียญต่อตัน ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุน และไม่ให้เกิดส่วนต่างจนทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าส่งออกโดยผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อย โดยการเติมวงเงินสำหรับซื้อก๊าซหุงต้มของกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเป็น 55 บาท ต่อ 3 เดือน

เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้า ที่จะต้องมีการปรับค่า เอฟที เพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งตามการประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. จะมีการปรับขึ้นค่าเอฟที 16 สตางค์ต่อหน่วยในงวดเดือน พ.ค. ก็จะดำเนินการตามระดับราคาเดิมที่เคยประกาศแม้ขณะนี้ราคาเชื้อเพลิงจะพุ่งสูงทำให้ต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้น แต่จะพยายามตรึงราคาไว้ไม่ให้เกินจากกรอบที่ได้เคยประกาศไปก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยลดการใช้พลังงานให้ได้อย่างน้อย 10% ด้วยการลดอุณหภูมิแอร์ ดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โดยหน่วยงานของกระทรวงพลังงานจะมีกิจกรรมสนับสนุนลดใช้พลังงาน เช่น กลุ่ม ปตท. จะรณรงค์ประหยัดน้ำมัน และให้ สถานบริการตรวจเช็คสภาพรถ FIT Auto ของโออาร์ รับตรวจเช็คเครื่องยนต์ให้ประชาชนฟรี 35 รายการจนถึงสิ้นเดือนเมษาฯ

ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะเปิดโครงการล้างแอร์ฟรี 10,000 สิทธิ์ 5 ภูมิภาค ให้ส่วนลดในการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เบอร์ 5 สามดาว หวังลดการใช้ไฟฟ้า 1.3 ล้านหน่วยต่อปี ลดคาร์บอน 1 พันตันต่อปี สร้างการจ้างงานช่างล้างแอร์ กระตุ้นเศรษฐกิจซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ได้ 20 กว่าล้านบาท

ขณะที่ภาครัฐจะลดการใช้พลังงานลง 20% ด้วยการลดการเดินทาง ออกมาตรการให้เอกชนมาเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าและติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้กับหน่วยงานรัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ส่วนการสำรองน้ำมัน นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ได้ประสานงานกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมอย่างใกล้ชิด ทุกรายได้แจ้งยืนยันว่ายังคงสามารถจัดหาน้ำมันดิบได้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 2 เดือน สำหรับความต้องการใช้น้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 123.25 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยอยู่ที่ 119.88 ล้านลิตร/วัน

ปัจจุบันมีปริมาณน้ำมันดิบคงเหลือ (รวมที่อยู่ระหว่างการขนส่ง) อยู่ที่ 5,686.44 ล้านลิตร และมีปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงเหลืออยู่ที่ 1,703.61 ล้านลิตร ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศได้ถึง 61 วัน นอกจากนี้ บมจ.ปตท. ยังมีมาตรการเตรียมพร้อมจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 635.94 ล้านลิตร (4 ล้านบาร์เรล) จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองเป็น 66 วัน ส่งผลให้ประเทศมีน้ำมันใช้เพียงพอไม่ขาดแคลน

นอกจากนี้ยังประสานผู้ค้าน้ำมันเตรียมประกาศเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย น้ำมันดิบเป็นร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปเป็นร้อยละ 2 ตามลำดับ จากปัจจุบันอัตราสำรองน้ำมันดิบร้อยละ 4 และน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 1 ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 7 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพพลังงานได้โดยไม่กระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน

คุณอาจสนใจ