สังคม

ยอดเสียชีวิตโควิด ทะลุนิวไฮ 59 ราย - 'หมอนิธิพัฒน์' ชี้ ติดยกครัวพุ่ง หากลยุทธ์วัคซีนเต็มแขนให้มากที่สุด

โดย sujira_s

6 มี.ค. 2565

96 views

ยอดยังสูง ยอดเสียชีวิตโควิดทะลุนิวไฮ 59 ราย ด้าน 'หมอนิธิพัฒน์' ชี้ ติดยกครัวพุ่ง หากลยุทธ์วัคซีนเต็มแขนให้มากที่สุด


ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 วันนี้ พบผู้ป่วยเพิ่มอีก 21,881 คน เป็นผู้ป่วยจากในประเทศ 21,747 คน และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 134 คน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 59 คน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ATK อยู่ที่ 31,407 คน โดยมีผู้ป่วยที่รักษาหาย 21,448 คน 


นอกจากนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่กำลังหนักหน่วง โดยระบุว่า 


“สถานการณ์ตัวเลขวันนี้ (5 มีนาคม 65) นับว่าทรงๆ เมื่อวาน ในการประชุมเตรียมความพร้อมทางการแพทย์ มีการคาดการณ์จากหลายสำนักว่าจุดพีคจะอยู่ตรงไหนและเท่าไร  ส่วนใหญ่ชี้ไปที่ปลายมีนาถึงกลางเมษา และยอดอาจถึงแสนกว่า แต่สำนักนั่งเทียนโดยเวชญาณ เห็นว่าตัวเลขทางการที่นำมาใส่สูตรต่างๆ ความน่าเชื่อถือต่ำ ทั้งไม่รวม ATK บ้าง  รวมไม่หมดบ้าง หรือรวมช้าไปบ้าง ส่วนคำทำนายส่วนตัวใช้ยอด RT-PCR คูณสี่ ดังนั้นใกล้ถึงหรือถึงยอดภูกระดึงแล้ว



ส่วนเรื่องเตียงรับผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงตึงมือมากใน กทม. ซึ่งข้อมูลทางการของฝ่ายบริหาร ตามฟอร์มว่ายังไหว  แต่สำหรับฝ่ายบริการหน้างานจริงว่าหนักหนา และเป็นเช่นนี้อีกในบางจังหวัด ส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิมหนักจากโรคอื่น ไม่ใช่จากโควิดโดยตรง แต่ที่ล้นเกินจนสายไหม้คือ ผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย และต้องการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน



ข้อสังเกตในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการติดเชื้อกันแบบยกครัวมากขึ้น แค่ครอบครัวมากินข้าวร่วมกันในวันหยุด  หรือเพื่อนสนิทนัดไปกินข้าวกันนอกบ้าน หรือลูกหลานมาเยี่ยมบุพการีแล้วมีการโอภาปราศรัยทักทายกันใกล้ชิด ผ่านไปสองสามวัน เริ่มมีบางคนเป็นหวัดและตรวจพบติดเชื้อโควิด ต่อมาไม่เกินห้าวันคนที่อยู่ในข่ายเกือบทั้งหมดก็ติดเชื้อตามๆ กันมา



คาดว่าน่าจะเกิดจากการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งขณะนี้กำลังจะเบียดแซง BA.1 อยู่รอมร่อแล้ว เจ้าตัวย่อยนี้มีคุณสมบัติติดง่ายขึ้น แต่ในแง่ความรุนแรง ข้อมูลเบื้องต้นจากบ้านเราเอง และข้อมูลจำนวนมากจากหลายประเทศ พบว่าไม่ได้แตกต่างกับสายพันธุ์ย่อยที่นำมาก่อน สำหรับ BA.3 ทั่วโลกกำลังจับตากันอยู่ รวมถึงภายในประเทศเราเองด้วย



ศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อของอเมริกา ทำการติดตามสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วยโควิดโอไมครอนจำนวน 183 คน พบคนในบ้านที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 431 คน เกิดการติดเชื้อตามหลัง 227 คน คิดเป็นอัตราการรุกราน (attack rate) 52.7%  ถ้าคนในบ้านฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือได้เข็มมาตรฐานภายใน 5 เดือน จะลดการแพร่เชื้อจาก 64% เหลือ 43% ถ้าคนที่ติดเชื้อคนแรกแยกตัวจากคนในบ้านได้ดี จะลดการแพร่เชื้อจาก 68% เหลือ 41% และถ้าคนที่ติดเชื้อคนแรกใส่หน้ากากสม่ำเสมอเมื่ออยู่ในบ้าน จะลดการแพร่เชื้อจาก 69% เหลือ 40%



ดังนั้นนโยบาย เจอ-แจก-จบ หรือ outpatient self isolation (OPSI) ที่เริ่มดำเนินการเป็นทางการในสัปดาห์นี้ จะต้องเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้ย้ำเตือนกับผู้ป่วยใส่หน้ากากตลอดเวลาในช่วงแยกกักตัวที่บ้าน และต้องแยกกักตัวจริงๆ  ไม่สุงสิงคนอื่น



ส่วนการรณรงค์วัคซีนเข็มมาตรฐานและเข็มกระตุ้น ต้องหากลยุทธ์ให้วัคซีนเต็มแขนกันให้ได้มากที่สุด



สำหรับผู้ที่มีข้อกังวลเรื่องการฉีดวัคซีนในเด็ก ศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อของอเมริกาเผยแพร่ข้อมูลว่า ช่วงเดลตา เด็กอายุ 5-11 ปีที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ ป้องกันการป่วยหนักได้ 46% ในช่วง14–67 วันหลังได้รับเข็มสอง สำหรับเด็กอายุ 12-15 ปี และ16-17 ปี ประสิทธิภาพในช่วง 14-149 วันหลังฉีดเข็มสองจะอยู่ที่ 83% และ 76% ตามลำดับ แต่ถ้าเกิน 150 วันไปแล้วประสิทธิภาพจะตกลงไปครึ่งหนึ่ง



ในกลุ่มอายุ 16-17 ปีถ้าได้รับเข็มกระตุ้น ภายใน 7 วันหลังฉีดภูมิคุ้มกันจะขึ้นมาจนมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับตอนรับเข็มสองไปใหม่ๆ พอมาในยุคโอไมครอนประสิทธิภาพโดยรวมตกลงไปพอควร ดังเช่น เด็กอายุ 12-17 ปีถ้าไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 150 วันหลังฉีดเข็มสอง ภูมิคุ้มกันจะตกไปมากจนปกป้องจากการป่วยหนักเพราะโอไมครอนได้ไม่ถึง 10% ทำให้ที่อเมริกาต้องหันมาทบทวนแผนการฉีดวัคซีนในเด็กหลังจากโอไมครอนเบ่งบานเต็มที่



ส่วนข่าวจากรอยเตอร์ที่ว่าประสิทธิภาพในเด็ก 5-11 ปีในนิวยอร์คลดต่ำน่าใจหาย ยังไม่มีการยืนยันในทางวิชาการออกมา


รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/3hbHd-S_pZk

คุณอาจสนใจ

Related News