สังคม

'อ.กิจจา' เผยต้นตอ ASF ระบาดเริ่มจากจีน ด้าน ก.เกษตร แจงใช้งบทั้งเยียวยา-พัฒนาวัคซีน

โดย thichaphat_d

13 ม.ค. 2565

202 views

วันที่ 11 ม.ค. 65 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF หรืออหิวาต์แอฟริกาใต้ในสุกร เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการวิชาการป้องกันควบคุมโรค ASF


ล่าสุด ตรวจพบเชื้อ ASF จาก 1 ตัวอย่างที่เก็บมาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม จากตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บมา 309 ตัวอย่าง โดยยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว กรมปศุสัตว์เห็นควรประกาศประเทศไทยพบโรค ASF และรายงานไป OIE ต่อไป


ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการดำเนินการในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการเกิดโรค ASF ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ มาตั้งแต่ต้น โดยล่าสุดได้ประสานหารือและทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการควบคุมโรคแล้ว ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี


วานนี้ รศ.น.สพ.กิจจา อุไรรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้บอกว่า "มีโรคที่เริ่มระบาดมาจากที่จีน แล้วลามทั่วประเทศภายในหนึ่งปี ลามมาเวียดนาม เข้ากัมพู แล้วมาเขมร จนมาที่พม่า ซึ่งพม่าโยนหมูตายลงแม่ย้ำ จนมาติดที่คนเลี้ยงหมูชาวบ้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย นั่นคือการพบโรคนี้ครั้งแรกในไทย แต่เป็นระบบรายย่อยชาวบ้าน


ซึ่งมีตั้งแต่ปี 2562 ทำให้รัฐบาลประกาศให้โรคนี้เป็นวาระแห่งชาติ ผมไม่ยืนยันนะครับว่ามันเสียหายจากอะไร แต่เราพบภาพว่าการเลี้ยงหมูที่เสียหายมากที่สุดเกิดขึ้นในปี 2564 มันจะเกี่ยวข้องกับโรค AFS ที่เพิ่งรายงานไปมากน้อยแค่ไหนนั้นต้องดูข้อมูลที่กรมอุตสาหกรรม ผมพูดได้คำเดียวว่า ภาครัฐทำได้ดีที่สุดแล้วครับ แล้วไม่ได้ปกปิดนะครับ เพราะผู้เลี้ยงสุกรรับทราบในกระบวนการในการควบคุมป้องกันโรคกับทางกรมปศุสัตว์ และนักวิชาการ ทุกภาคส่วนเกี่ยวกับทุกเหตุการณ์เลี้ยงหมู"


ด้าน นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีทางการไต้หวันตรวจพบผลิตภัณฑ์กุนเชียงหมู ปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) ว่า


จากสอบถามไปยังผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ไทเป พบว่า กรณีดังกล่าวเป็นการตรวจพบจากการสั่งซื้อสินค้า และส่งทางพัสดุไปรษณีย์จากประเทศไทย ไม่ได้เป็นการสั่งนำเข้าสินค้าจากผู้ประกอบการ


อย่างไรก็ตาม ได้ให้ทูตพาณิชย์ไทเป ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่า ทางการไต้หวันได้มีมาตรการต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มเติมแต่อย่างใด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาไต้หวัน ไม่อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์หมูเป็น หรือหมูเนื้อแดงจากประเทศไทยอยู่แล้ว โดยอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะผลิตภัณฑ์หมูแปรรูปโดยใช้ความร้อนสูง และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่บรรจุภัณฑ์ปิดผนึกมิดชิด หรือซองสูญญากาศเท่านั้น


ด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า "กรณีที่มีการตรวจพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) กรมปศุสัตว์ได้ส่งชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น และนำไปตรวจหาโรคส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์


สำหรับเงินเยียวยา เป็นค่าเสียหายตั้งแต่ปี 2562 ที่ภาคเอกชนลงขันกัน กรณีมีความจำเป็นต้องทำลายหมูในกลุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดโรค หากคาดว่าจะเกิดโรคก็ทำลายทิ้งก่อน แล้วจ่ายชดเชยประมาณ 70% ของราคา โดยจ่ายเฉพาะรายย่อยเท่านั้น และได้ดำเนินการต่อเนื่องมา


กระทั่งเอกชนบอกว่านี่คือมาตรการป้องกันการระบาดของโรค ขณะนี้เงินลงขันกว่าร้อยล้านนั้นหมดแล้ว จึงมีการประชุมคณะกรรมการและนำเสนอไปยังรัฐบาลว่า การควบคุมการระบาด การป้องกัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล นี่คือที่มาในการของบประมาณกลางเพื่อนำมาเยียวยา ไม่ใช่หมูตายหรือหมูเป็นโรคแล้วเยียวยา เป็นเพียงหมูที่มีความเสี่ยง สมมุติว่าเลี้ยงในพื้นที่เสี่ยงเกิดโรคก็จะทำลายก่อนเพื่อไม่ให้เป็นต้นตอของโรค เงินเยียวยามาจากตรงนี้ ไม่ใช่เยียวยาหมูที่เป็นโรค


ส่วนงบประมาณกลางที่ ครม.อนุมัติกว่า 574 ล้านบาทนี้ เป็นก้อนสุดท้าย เพื่อเยียวยาการทำลายหมูแสนกว่าตัว ส่วนที่ขอไปประมาณ 1,700 ล้านบาท เพราะยังมีมาตรการส่วนป้องกัน การทำงานของเจ้าหน้าที่ ยาฆ่าเชื้อ และขอเผื่อหากมีความจำเป็นต้องทำลายสุกร ซึ่งบอกล่วงหน้าไม่ได้ว่าจะทำตรงไหน แต่เมื่อสำนักงบประมาณพิจารณาว่าหลักเกณฑ์ของทางราชการ สามารถจ่ายได้เฉพาะส่วนที่ทำไปแล้ว กระทรวงฯ ก็ทำไปตามปกติ ไม่ได้มีปัญหาอะไร


สำหรับงบเพื่อใช้ป้องกันนั้นกรมปศุสัตว์มีอยู่แล้ว แต่เกรงไม่เพียงพอก็เสนอของบกลางไป อย่างกรณีเจ้าหน้าที่ตรวจตั้งแต่สนามบิน ทุกด่านที่เปิด ทุกเส้นทาง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาในประเทศไทย คณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้มาจากทุกภาคส่วน ทุกกระทรวง และดูแลไปจนถึงเศษอาหารจากโรงแรม ร้านอาหาร บ้าน ก็ให้ตรวจสอบ เพราะหากมีเชื้อปนเปื้อนมาในเศษอาหารแล้วนำไปเลี้ยงหมู ก็ทำให้เกิดโรคได้ แต่ยืนยันว่าเชื้อนั้นไม่ติดคน มาตรการที่ทำลงลึกขนาดนี้ เป็นการป้องกัน ไม่ได้มีการปิดบัง เพราะไม่มีประโยชน์


การตรวจยืนยันโรค ASF ต้องตรวจตามมาตรฐานการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับ ส่วนที่ไม่ชดเชยรายกลาง รายใหญ่ เพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว มีอุปกรณ์ มีเครื่องมือมากกว่ารายย่อย จึงต้องดูแลรายย่อยมากกว่า


ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำแค่การควบคุม โรคนี้เกิดมาร้อยปีโดยไม่มีวัคซีน ก็ได้ทำ MOU ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันผลิตวัคซีน ซึ่งคืบหน้าไปมาก ถ้าทดลองสำเร็จอีก 2 ขั้นตอน ไทยจะเป็นประเทศแรกที่ผลิตวัคซีนได้


ยืนยันว่าไม่ได้ทิ้ง ไม่ได้ปกปิด พยายามป้องกันทุกอย่างจน OIE มีหนังสือชื่นชม สำหรับรายละเอียดทั้งหมดจะชี้แจงอีกครั้งว่าปี 2562 2563 2564 ทั้งปี ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง รวมถึงกรณีภาคีคณบดีสัตวแพทย์ทำหนังสือมานั้น ตนเองเพิ่งเซ็นคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าทำไมกรมปศุสัตว์จึงไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/P4kfZAWOqVw

คุณอาจสนใจ

Related News