สังคม

หลายจังหวัดฮือฮา เห็น 'กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์' เหนือฟ้าเมืองไทย

โดย passamon_a

26 ธ.ค. 2564

2.1K views

เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความระบุว่า หลังจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ทะยานขึ้นสู่อวกาศ ประมาณ 40 นาที กล้องโทรทรรศน์อวกาศ JWST ก็เดินทางผ่านน่านฟ้าประเทศไทย สังเกตได้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เห็นได้หลายพื้นที่ในประเทศไทย


อาทิ เชียงใหม่ น่าน ลำปาง เชียงราย พิจิตร สุโขทัย กรุงเทพฯ ราชบุรี สระบุรี ชลบุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ชัยภูมิ เลย ปัตตานี สุราษฎร์ธานี ชุมพร ยะลา ตรัง ฯลฯ และเนื่องจากเป็นช่วงเวลากลางคืนของประเทศไทย จึงนับเป็นโอกาสดี คนไทยจะได้ร่วมเป็นสักขีพยานการปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับคนทั้งโลก


หากผู้สังเกตในประเทศไทย ทำการสังเกตท้องฟ้าตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณสองทุ่มจนถึงสามทุ่ม อาจสังเกตเห็นแสงประหลาดบนท้องฟ้า พร้อมมีหางยาวออกมาคล้ายดาวหาง เคลื่อนที่อย่างช้า ๆ แสงนี้คือแสงจากจรวดขับเคลื่อนประจำ JWST ที่กำลังพากล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ออกไปจากโลกไกลถึง 1.5 ล้านกิโลเมตร


จากมุมมองของประเทศไทย ในช่วงแรก JWST จะเริ่มสังเกตเห็นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ก่อนจะค่อย ๆ เคลื่อนที่สูงขึ้น และจางหายไปบริเวณกลางฟ้า ในช่วงแรกจะสามารถสังเกตเห็นลักษณะคล้ายเมฆกลมจาง ๆ ล้อมรอบอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นจากชั้นบรรยากาศของโลกถูกความร้อนจากไอพ่นจรวดกลายเป็นพลาสมา มีแสงเรืองออกมา หลังจากนั้นเมื่อ JWST ลอยสูงขึ้นร่องรอยพลาสมาในชั้นบรรยากาศจึงค่อย ๆ จางหายไป เหลือเพียงไอพ่น บริเวณไอพ่นนั้นเกิดจากเชื้อเพลิงจรวดที่ถูกปล่อยออกจากตัวจรวดขับเคลื่อน JWST ด้วยความเร็วสูง ที่ยังคงความร้อนเอาไว้ ความร้อนนี้ทำให้แก๊สภายในไอพ่นกลายเป็นพลาสมา และเรืองแสงออกมา หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือการถ่ายภาพเป็นระยะเวลานาน อาจสังเกตเห็นโครงสร้างคล้ายเกลียวพุ่งออกมา ซึ่งเป็นโครงสร้างของไอพ่นจากจรวดที่พบเห็นได้บ่อยในการปล่อยจรวด เกิดขึ้นจากการหมุนของตัวจรวดนั่นเอง


กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Telescope: JWST) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 เวลาประมาณ 19.20 น. ที่ผ่านมา ด้วยจรวด Ariane 5 ณ ฐานปล่อยจรวดในเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ ก่อนมุ่งหน้าสู่ตำแหน่งสังเกตการณ์ห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร (4 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์)


กล้องโทรทรรศน์อวกาศลำนี้นับเป็น "เรือธง" สำคัญของ NASA ที่จะมาแทนที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่กำลังจะปลดประจำการ มาพร้อมกับเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง บุกเบิกสู่ยุคใหม่ของวงการดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด สังเกตแสงอันริบหรี่ของกาแล็กซีที่ห่างไกลออกไป เพื่อศึกษากลไกการก่อกำเนิดดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ ไปจนถึงการสังเกตดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ซึ่งนับเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการศึกษาเอกภพอย่างแท้จริง


หลังจากนี้จะใช้เวลาอีกประมาณ 14 วัน JWST จะปรับวงโคจรเพื่อเข้าสู่เป้าหมาย และเริ่มปฏิบัติภารกิจต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News