สังคม
กลุ่ม Re-Solution รับสุดผิดหวังรัฐสภา ปัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
โดย pattraporn_a
17 พ.ย. 2564
34 views
กลุ่ม Re-Solution ยอมรับรู้สึกผิดหวังรัฐสภา ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หลังพรรคร่วมรัฐบาล และ สมาชิกวุฒิสภา ประสานเสียงไม่รับร่างคะแนนมากกว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน 473 ต่อ 224 เสียง ทำให้ร่างตกไป ขอโทษประชาชนกว่าแสนสามหมื่นคนที่ลงชื่อสนับสนุน
ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน จากกลุ่ม Re-Solution ด้วยมติคัดค้าน 473 เสียง เป็นเสียงของ สภาผู้แทนราษฎร 249 เสียง วุฒิสภา 224 เสียง มากกว่าเสียงที่เห็นชอบ 206 เสียง เป็นเสียงสภาผู้แทนราษฎร 203 เสียง วุฒิสภา 3 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง เป็นเสียง ส.ส.6 เสียง ส.ว.3 เสียง
จากคะแนนเสียงที่รับหลักการ น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ที่มี 362 เสียง ทำให้ไม่ต้องนับคะแนนเสียงของวุฒิสภา ที่ต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นอันตกไป
สำหรับคะแนนเสียงรับหลักการมาจาก ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่วน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ไม่รับหลักการ เช่นเดียวกับวุฒิสภา ที่มีเพียง 3 เสียง ที่รับหลักการ คือ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ และนายมณเฑียร บุญตัน
สำหรับ ส.ว.ที่งดออกเสียง 3 คน คือ นายเจน นำชัยศิริ ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ นายอำพล จินดาวัฒนะ
ส่วน ส.ส.3 คน ที่งดออกเสียง คือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอีก 2 คน คือ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ นางสาวศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.พรรคพลเมืองไทย พรรคเล็กที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะแกนนำกลุ่ม Re-Solution ยอมรับว่า รู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ เพราะทุกข้อเสนอไม่ได้สุดโต่ง และไม่ได้ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ เพียงแต่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่ “ควร” จะเป็น คือ คืนศักดิ์ศรีแก่สถาบันทางการเมือง ไว้ใจประชาชน และ ระบบที่เป็นกลาง จึงขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภาที่ไว้ใจเปิดพื้นที่ให้ชี้แจง และขอโทษจากใจจริงต่อประชาชนกว่า 130,000 คนที่ลงชื่อสนับสนุน ซึ่งจะยังเดินหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหากรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังอยู่ วิกฤตประเทศก็ไม่จบ
ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ขอประชาชนอย่าเพิ่งสิ้นหวัง แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาชุดนี้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นประชาชนผู้ทรงสถาปนารัฐธรรนูญตัวจริง จึงต้องเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อไป และฝากความหวังไปยังผู้แทนราษฎร ที่ต้องผลักดันเป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสียดายโอกาสที่จะสามารถนำความขัดแย้งของสังคมไทย เข้าสู่รัฐสภา แต่ก็ไม่ได้สูญเปล่าจากการอภิปรายในช่วง 16 ชั่วโมง ถือเป็นโอกาสทองทางการเมือง ที่ทำให้มีวาระถกแถลงอย่างเป็นทางการอย่างไม่เคยมีมาก่อน และพรรคก้าวไกล พร้อมนำข้อเสนอของประชาชนฉบับนี้ไปเป็นนโยบายทางการเมืองหาเสียงในการเลือกตั้งต่อไป
สำหรับท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่รับหลักการ เช่นพรรคประชาธิปัตย์ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เปิดเผยว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งเรื่อง องค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้มีองค์ประกอบจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 3 คน ส.ส.รัฐบาล 3 คน และจากที่ประชุมศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด 3 คน ซึ่งยังมีเป็นปัญหาความไม่ชัดเจน เรื่องความซ้ำซ้อนอำนาจอธิปไตย และเผด็จการรัฐสภา แต่เห็นด้วยที่จะให้เสนอการแก้มาตรา 256 ในการตั้ง ส.ส.ร.ให้เป็นจริงได้
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ โดย นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล ห่วงว่า จะมีปัญหากับร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นบัตร 2 ใบ ที่ผ่านรัฐสภาไปแล้ว หากรับหลักการไปแล้วจะแก้ไขในชั้นกรรมาธิการไม่ได้
ทั้งนี้หลังจากรัฐสภาไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ส่งผลให้รัฐสภา ไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในลักษณะที่มีหลักการเหมือนกับกลุ่ม Re-Solution ได้อีก จนกว่าจะเริ่มสมัยการประชุมถัดไป