เลือกตั้งและการเมือง
ภาคีเพื่อรธน.ชง 5 ข้อเร่งด่วน จัดตั้ง 'สภาร่างรัฐธรรมนูญ' ให้ทันรบ.ปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ปชช.
โดย chawalwit_m
22 พ.ย. 2567
102 views
ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เรียกร้องทุกฝ่ายตั้ง สสร.ให้เสร็จภายในอายุสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ หลังแน่ชัดแล้วว่าเวลาที่เหลือของสภาฯ ไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทัน เสนอเร่งแก้ไขมาตรา 256 เพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานระหว่างนักการเมือง จากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ที่สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสมาชิก (สสร.) มาจากการเลือกตั้ง มีการประชุมเพื่อหารือถึงไทม์ไลน์การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หลังการออกกฏหมายประชามติต้องล่าช้าออกไป และกระทบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อาจไม่ทันอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จึงมีข้อเสนอ 5 ข้ออย่างเร่งด่วน ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเพื่อให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.ให้แล้วเสร็จภายในอายุของสภาผู้แทนราษฏรชุดนี้
โดยในระหว่างที่จะมีการจัดตั้ง สสร.ภาคีฯ สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิเท่าเทียมกันของหญิงและชาย และการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพและเพศวิถี โดยเฉพาะหมวดว่าด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ซึ่งสอดคล้องกับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นในวันที่ 1 ก.พ. 68 นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการจัดให้มีหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภาโดยไม่รอช้า และรัฐบาลต้องรณรงค์ให้ความรู้และประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยภาคีจะขอเข้าพบพรรคการเมืองและวุฒิสภาเพื่อเสนอเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
ภาคประชาสังคม รวมถึง สส.และสว.ต่างสนับสนุนให้ทุกฝ่ายผลักดันให้มี สสร.ให้ทันสภาฯชุดนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนตามที่สัญญาไว้
นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา หวังว่าสมาชิกวุฒิภาก็จะให้ความร่วมมือด้วย ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นเพียงตรายาง
ขณะที่นายนิกร จำนง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการร่วมสองสภา ยืนยันว่าจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในสภาฯชุดนี้ได้ยากแล้ว แต่ยังมีโอกาสให้ตั้ง สสร.ให้ทัน ซึ่งการทำประชามติครั้งแรกคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในต้นปี 2569 จากนั้นจึงต้องเสนอแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งต้องอาศัยเสียงของ สว.จำนวน 2 ใน 3 หรือ 67 เสียงด้วย
ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม เห็นว่า เวลาที่เหลือของสภาฯ 2 ปี 7 เดือน กับเวลาที่ต้องใช้ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2 ปี 11 เดือน จึงไม่ทันให้ประชาชนได้เห็นรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐบาลและทุกพรรคการเมืองจึงต้องแสดงเจตจำนงที่จะทำให้ สสร.จากประชาชนเกิดขึ้นให้ทันก่อน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า กำลังพิจารณาใช้ช่องทางให้ที่ประชุม คณะกรรมาธิการทุกคณะตีความร่างพระราชบัญญัติออกเสียงประชาติว่าเป็นกฏหมายการเงินหรือไม่ เพราะเคยมีการใช้วิธีนี้ ถ้าลงมติว่าเป็นกฏหมายการเงิน ก็ไม่ต้องรอถึง 180 วัน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าแม้กฏหมายออกเสียงประชามติ จะไม่มีถ้อยคำเกี่ยวกับการเงิน แต่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการดำเนินการ จึงมองว่าช่องทางให้ประธานกรรมาธิการทุกคณะวินิจฉัย น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง โดยเตรียมเสนอวิปรัฐบาลพิจารณาต่อไป