สังคม

"ธนาธร" รับทราบข้อกล่าวหา ม.112 ยันไม่กังวลคดีไลฟ์วิจารณ์วัคซีน

โดย panisa_p

12 ต.ค. 2564

82 views

ที่ สน.พหลโยธิน เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 ต.ค. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความส่วนตัว เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ตามประมวลอาญาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ภายหลังใช้เวลา 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ


นายกฤษฎางค์เปิดเผยว่า สำหรับมูลเหตุคดีนี้เป็นคดีที่นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวหานายธนาธร เมื่อไปเป็นพยานศาลที่กระทรวงดิจิทัลฯ ขอให้ไต่สวนคำร้อง ขอให้เพิกถอนการเผยแพร่คลิปของนายธนาธร ที่ขณะนั้นรัฐบาลยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ระงับการเผยแพร่ ให้ลบคลิปดังกล่าว โดยเอาคำเบิกความบางส่วนมาแจ้งความกล่าวหานายธนาธร ตามความผิด มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ




ซึ่งในกรณีดังกล่าว ศาลอาญาได้มีคำสั่งไปแล้วว่า คำเบิกความของนายธนาธรไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม ไม่ได้เป็นความผิดตามกฎหมาย ศาลยกคำร้องไปแล้ว แต่ปรากฏว่า นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำไปสู่ความไปแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง ทั้งที่ตัวนายอภิวัฒน์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายแต่อย่างใด ทั้งนี้ข้อเท็จจริงและรายละเอียด ไม่ใช่ตามที่ถูกกล่าวหา เพียงแต่มีเจตนาจะกล่าวโทษนายธนาธรเท่านั้น


วันนี้จึงได้ให้การปฏิเสธและขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 45 วัน ซึ่งในชั้นสอบสวนนี้จะยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากพนักงานสอบสวนเป็นการสอบสวนโดยเร่งรัดโดยคณะสอบสวนชุดความมั่นคงไม่ทราบว่ามีการตีความอย่างไร สอบสวนไว้ละเอียดรอบคอบหรือไม่ เพราะในรายละเอียดของเรื่องนี้จะเป็นการแสดงถึงเจตนาบริสุทธิ์ของนายธนาธรอยู่แล้ว


ด้านนายธนาธรกล่าวว่า ตนคงไม่ท้อต่อการถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เพราะตนยังพอเป็นคนที่มีต้นทุนทางสังคม พอมีชื่อเสียงอยู่บ้าง กระบวนการทางกฎหมายก็มีความยุติธรรมกับตนในระดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบันนี้ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ถูกการเมืองกลั่นแกล้งและไม่ได้รับความเป็นธรรม มีผู้ถูกกล่าวหาจากคดีทางการเมืองมากกว่า 800 คดี มีประชาชนคนถูกดำเนินคดี 1,500 คน มีการดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวน 150 คดี ไม่มียุคไหนที่รัฐบาลใช้กฎหมายกดขี่ ปิดปากประชาชนมากเท่านี้มาก่อน




และคนต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีต้นทุนทางสังคมเท่ากับตน ทำให้กระบวนการยุติธรรมไปสู่ตัวเขานั้นไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างกรณีของ น.ส.เบนจา อะปัญ ที่เดินทางไปมอบตัวกับพนักงานสอบสวน ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี แต่กลับไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลให้เหตุผลว่า กลัวว่าจะทำผิดซ้ำอีก คำถามคือ ยังไม่ได้มีการพิพากษาเลยแต่ทำไมถึงบอกว่ากลัวไปทำผิดซ้ำ หมายความว่าศาลมีธงในใจแล้วหรือไม่ ถึงไม่ยอมให้ประกันตัว


ตนจึงขอเรียกร้องกับสังคมว่า แทนที่จะมาให้ความสนใจในคดีตน ขอให้ไปสนใจกับคดีต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะความไม่เป็นธรรมที่ถูกยัดเยียดให้กับคนใดคนหนึ่งในสังคม คือ ความไม่เป็นธรรมที่ถูกยัดเยียดให้กับคนทุกคนในสังคม ร่วมกันปกป้องคนเหล่านี้ ที่ออกมาพูดเรื่องที่เป็นปัญหาของสังคม ที่ผ่านมาหากมีเวลาตอนก็จะไปให้กำลังใจกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องตามกาละเทศะ

คุณอาจสนใจ

Related News