สังคม

กอนช.เร่งผันน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งปีหน้า พร้อมเฝ้าระวังพายุลูกใหม่

โดย panisa_p

6 ต.ค. 2564

64 views

วันที่ 6 ต.ค. 64 ที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติหรือ กอนช.เฝ้าระวังพายุลูกใหม่ หลังวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เชื่อจะไม่ซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม พร้อมเร่งกักเก็บน้ำที่ท่วมหลาก เพื่อเตรียมไว้ใช้ฤดูแล้งปีหน้า


ภายหลังการประชุมกอนช.ร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การเร่งระบายและผันน้ำ จะพลิกวิฤกติให้เป็นโอกาส โดยเน้นกักเก็บน้ำที่ท่วมอยู่ ทั้งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำมูล - ชี เพื่อนำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งต่อไป โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังที่มี 4 - 5 ล้านไร่


พร้อมกันนี้ กรมชลประทานจะประเมิณปรับลดการระบายน้ำ แบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลดผลกระทบพื้นที่ปลายน้ำ จากเดิมระบาย วันละ 1,000 ลดลงเหลือ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้น้ำอยู่ในระดับควบคุม พร้อมเพิ่มช่องว่างรองรับน้ำ เช่นเดียวกับเขื่อนเจ้าพระยา จะควบคุมระดับการระบายน้ำไปพร้อมตัดยอดน้ำ ระบายเข้าทุ่งทั้ง 2 ฝั่ง (ออกและตก)


ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำชี - มูล ได้มอบหมาย กฟผ.และกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ไม่ให้ซ้ำเติมต่อประชาชนในพื้นที่ จะระบายน้ำวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และเปิดประตูระบายน้ำให้เต็มศักยภาพ ไหลลงแม่น้ำโขงโดยเร็ว


ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า จากนี้วันที่ 10 ตุลาคมเป็นต้นไป ต้องเฝ้าระวังพายุลูกใหม่ จากข้อมูลคาดการณ์ พบมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคอีสาน ส่วนพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ ยังอยู่ในฤดูฝน จะได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่าน ฝนจะตกกระจายในหลายพื้นที่ ต้องบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี


ด้าน ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กล่าวว่า โอกาสเกิดพายุลูกใหม่ พบว่าขณะนี้เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำทวีกำลังแรงขึ้น แนวโน้มทิศทางเคลื่อนตัวเข้าไทย แต่เนื่องจาก มีพายุลูกใหญ่อีกลูก กำลังเคลื่อนตัวขึ้นทางทิศเหนือ ประกอบกับมีความกดอากาศสูง ทำให้ความแรงลดลง


คาดว่า พื้นที่ภาคอีสานจะได้รับผลกระทบแต่ไม่มากนัก มีฝนตกช่วงระยะสั้นในพื้นที่ปลายน้ำ แต่จะเร่งระบายน้ำได้ทัน ไม่ซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมอยู่ขณะนี้ แต่ในช่วง 3 วันนี้ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมแรงของหางพายุ มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่


ขณะที่ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำเหนือลดลง แนวโน้มสถานการณ์ลุ่มเจ้าพระยาดีขึ้น เตรียมปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อน บรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน 


ส่วนมวลน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลอ่าวไทย พื้นที่กทม. ปทุมธานี และนนทบุรี จะได้รับผลกระทบ โดยจุดระบานน้ำที่ อ.บางไทร จะควบคุมน้ำไม่ให้เกิน 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่อาจพื้นที่ชุมชนนอกคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบ

คุณอาจสนใจ

Related News