สังคม

'นพ.ประสิทธิ์' ชี้โควิดไทยสัญญาณดี คาดอาจคลายล็อกกลาง ก.ย. หากฉีดวัคซีนได้ 50%

โดย passamon_a

23 ส.ค. 2564

301 views

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.64 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และแนวทางผ่อนคลายมาตรการ ว่า สถานการณ์โควิดของไทย ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นตัวเลขขณะนี้อาจดูเหมือนยังไม่ลดลง เพราะผู้ติดเชื้อใหม่ยังแกว่งอยูที่ 1.9-2 หมื่นรายต่อวัน แต่ที่เห็นชัดคือ อัตราการติดเชื้อลดลง ตัวเลขที่จะวิ่งขึ้นมาก ๆ ไม่เกิดขึ้นมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว


ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 รายต่อวัน เมื่อสอบถามข้อมูลก็พบว่า เป็นตัวเลขที่รายงานเข้าระบบช้า แต่ตอนนี้เข้าใจว่ามีการเคลียร์ตัวเลขแล้ว ดังนั้นตอนนี้ผู้เสียชีวิตรายใหม่น่าจะอยู่ที่ 200 กว่าราย ทั้งนี้ ตัวเลขเหล่านี้หากดูวันต่อวัน อาจไม่ชัด ต้องดูตัวเลข 7 วัน แล้วเฉลี่ยกัน เราจะเห็นว่า เส้นความชันเริ่มน้อยลงกว่าเดิมเยอะ ใกล้เข้าสู่ระนาบเส้นตรง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง กราฟก็จะเริ่มกดหัวลงเป็นขาลง


สิ่งที่ทำให้กราฟลดลงเกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. การฉีดวัคซีนป้องกัน อย่างเช่นหลายประเทศที่ฉีดมากกว่า ร้อยละ 25 ของจำนวนประชากร จะเริ่มสู่ระยะที่ใกล้จะถึงพีค เมื่อฉีดใกล้ถึงร้อยละ 40-50 ก็จะเริ่มเห็นตัวเลขปรับลง ซึ่งขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนแล้วประมาณ ร้อยละ 28 ของจำนวนประชากร ถือว่าทำได้ดี บางวันฉีดสูงถึง 6 แสนโดส


ดังนั้น เดือน ๆ หนึ่ง เราน่าจะถึงเป้าหมายที่คุยกันไว้ที่ 15-18 ล้านโดส จังหวะตอนนี้เริ่มประกบเข้ามาทั้งเรื่องวัคซีน เท่าที่พยายามสอบถามก็ได้ข้อมูลว่า มีโอกาสค่อนข้างแน่นอนว่า เดือนหนึ่งจะมีวัคซีนเข้ามา 10 กว่าล้านโดส โดยจะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาเติมเต็มอีกในช่วงก่อนเดือนกันยายน 2564 ซึ่งเร็วกกว่ากำหนดที่ระบุว่าในเดือนตุลาคม ก็หวังว่าเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ถึง 15 ล้านโดส หากเกิดขึ้นได้จริง ก็จะเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ทำให้กราฟกดหัวลงเร็วขึ้น แต่ต้องควบคู่กับระบบบริหารจัดการ รวมถึงประชาชนต้องเข้ามารับวัคซีน


ทั้งนี้ ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนสูตร SA ด้วยเข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตราเซนเนกา ห่างกัน 3 สัปดาห์ ให้ประสิทธิผลทางทฤษฎีในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันระดับบี เซลล์ (B Cell) และที เซลล์ (T Cell) ได้สูง และมีประสิทธิผลในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยืนยัน


อย่างไรก็ตาม 2. มาตรการสังคม การปกครอง และ 3. มาตรการบุคคล ก็เป็นส่วนสำคัญในการลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อ


ถ้าวัคซีนพอ ระบบดี และคนไปฉีดวัคซีน ก็เชื่อว่าหากตัวเลขเป็นไปตามเป้าหมายนี้จริง ๆ โอกาสที่จะเริ่มเข้าสู่ขาลงใกล้ ๆ นี้ ก็น่าจะประสบได้


ยังไม่อยากบอกให้เร็วว่าปลายเดือนสิงหาคมนี้ แต่เชื่อว่าภายในเดือนกันยายนนี้ จะเห็นตัวเลขการเสียชีวิตลดลงก่อน เพราะโมเมนตัมของผู้ป่วยใหม่ที่เข้ามาแล้วต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ออกซิเจนลดลง แต่คนที่ใช้อยู่ก่อน เช่น ที่ รพ.ศิริราช รักษากันเดือนกว่า ดังนั้นตัวเลขการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ก็เป็นการย้อนกลับมา อาจไม่ใช่ตัวเลขที่บอกได้ทันที แต่ตัวเลขผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใหม่ที่มีปอดอักเสบ ใช้เครื่องช่วยหายใจ จะเป็นตัวคาดการณ์ในอนาคต ถ้าตัวเลขน้อยลงเรื่อย ๆ คาดการณ์ว่า อัตราสียชีวิตจะน้อยลง


และตอนนี้ เราเริ่มเห็นแนวทางจากข้อมูลสะสมรายสัปดาห์ เราเริ่มเห็นขาที่นิ่ง คงที่ และน่าจะเริ่มมีตัวเลขลงแล้ว แต่อัตราการติดเชื้อใหมจะเห็นช้าไปอีก 2-3 สัปดาห์ หากไม่มีการระบาดคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ ขึ้นมา ส่วนตัวเชื่อว่าภายในกลางเดือนกันยายนนี้ เราน่าจะเห็นตัวเลขขาลง ค่อนข้างแน่ หากดูในเวิลด์โดมิเตอร์ ก็เริ่มเห็นว่าลงเล็กน้อย อีก 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้น่าจะเห็นชัด


คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงหลักการผ่อนคลายมาตรการว่า ต้องดูจากข้อมูลจริง และอัตราคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน ส่วนรูปแบบการผ่อนคลายนั้น ทุกประเทศคล้ายกันคือ ไม่ล็อกดาวน์ (Lockdown) ทั้งประเทศอีกแล้ว แต่จะล็อกตามเป้าหมาย (Target Lockdown) จังหวัดไหนทำได้ดี ก็จะผ่อนคลาย แต่มีมาตรการติดตามใกล้ชิด กิจกรรมที่สามารถควบคุมได้ สถานประกอบการ ผู้เข้าใช้บริการต่างร่วมมือ และมีการฉีดวัคซีน


อย่างในต่างประเทศทางยุโรป เมื่อผ่อนคลายมาตรการ หรือผ่อนคลายกิจกรรมบางอย่าง ก็จะมีมาตรการใช้เฮลท์ พาส (Health Pass) ในมือถือ หากมี 1 ใน 3 ก็จะอนุญาตให้เข้าสถานประกอบการได้ แต่ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า มีการละเมิดก็จะถูกปรับด้วยโทษหนัก คือ 1. ได้รับวัคซีนครบโดส 2. ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบ หรือ 3. แสดงหลักฐานว่าเพิ่งหายจากการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าคนที่เข้าไปใช้บริการจะไม่แพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่น ๆ เช่น การนั่งรับประทานอาหารในร้าน เป็นต้น


อย่างไรก็ดี ปลายเดือนสิงหาคมนี้ หากจะเกิดการผ่อนคลายขึ้นในประเทศไทย ก็น่าจะมีการเสนอมาตรการนี้เข้า ศบค. ให้พิจารณา ซึ่งในอีก 2-3 วันนี้ ต้องหารือกันเลย โดยจะมีเวลาอีก 1 สัปดาห์ เพื่อดูตัวเลข หากส่งสัญญาณดีขึ้น ก็อาจมีการพิจารณา แต่ต้องตกลงเงื่อนไขกับผู้ให้บริการ หากทุกคนร่วมกัน มีโอกาสเริ่มผ่อนคลาย ซึ่งหากวกมาอีกก็ต้องมีการควบคุม สำหรับไทยอาจจะใช้เป็น เช่น การแสดงหลักฐานฉีดวัคซีนในมือถือ หรือเป็นการให้สถานประกอบการบริการจุดตรวจโควิด-19 ชนิด แอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ที่มีความไวและความจำเพาะดี ๆ ไว้ให้ลูกค้า เพื่อตรวจก่อนเข้าใช้บริการ ก็จะเป็นมาตรการหนึ่งที่ดี


ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวที่ติดตามดูการดำเนินการของประเทศต่าง ๆ เห็นว่าจุดคลายล็อกที่น่าจะปลอดภัยคือ การฉีดวัคซีนที่ ร้อยละ 50 ของจำนวนประชากร ซึ่งในขณะนี้ไทยฉีดแล้ว 26 ล้านโดส แต่หากฉีดได้ตามเป้าหมายเดือนละ 15 ล้านโดส หรือเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดส เมื่อรวมกันก็จะได้ประมาณ 40 ล้านโดส นั่นคือภายในกลางเดือนกันยายนนี้ ควรจะได้ฉีดได้ 40 กว่าล้านโดส เพื่อให้เข้าใกล้ตัวเลข ร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรคนไทย 70 กว่าล้านคน ก็ควรจะได้วัคซีน 35 ล้านคน


เราน่าจะเซฟพอที่จะคลายล็อก ทั้งนี้ ปลายเดือนสิงหาคม ตัวเลขอาจจะยังไม่ดี แต่อีก 14 วัน ให้หลัง น่าจะคลายล็อกได้ค่อนข้างปลอดภัย แต่ต้องเลือกพื้นที่และกิจกรรมให้เหมาะสม มีการติดตามอย่างเข้มงวด ซึ่งจะแปรผกผันกับความชุกของการติดเชื้อ คือ ผู้ติดเชื้อมากก็จะคลายล็อกได้น้อย แล้วค่อยผ่อนคลายต่อหากสถานการณ์ดีขึ้น อย่างเช่นปีที่แล้ว เราคลายล็อกกกันตั้ง 6 รอบ ดังนั้น เราต้องค่อย ๆ คลายล็อก ส่วนตัวลึก ๆ หากไม่มีคลัสเตอร์ใหม่ ดูจากตัวเลขเวลานี้แล้วก็ดูจากเคสหนัก ๆ ผมคิดว่าหากยังไม่ถึงจุดสูงสุดของยอดติดเชื้อ ก็น่าจะใกล้ถึงเต็มที่แล้ว แล้วอีกไม่นานก็จะถึงจุดที่วกลง ทั้งอัตราการเสียชีวิตและการติดเชื้อ



คุณอาจสนใจ

Related News