สังคม

เปิดผลตรวจภูมิ หลังฉีดซิโนแวค หลายฝ่ายตั้งคำถาม มีประสิทธิภาพคุ้มค่างบฯที่ทุ่มจ่ายหรือไม่?

โดย panwilai_c

14 ส.ค. 2564

376 views

ข่าว 3 มิติ ยังคงเดินหน้าตรวจสอบประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันของวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 วัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดหามาฉีดให้กับประชาชน แต่กลับถูกวิพากวิจารณ์ ว่าด้อยค่า โดยเมื่อ 1 เดือนก่อน ทีมข่าวได้ เข้าเจาะเลือดตรวจภูมิยับยั้งและหาประสิทธิภาพของวัคซีน ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หลังจากที่คนหนึ่งฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม ผ่านไปเกือบ 1 เดือนและอีกคนฉีดครบ 2 เข็มผ่านมา 1 เดือนพอดี ซึ่งเป็นระยะที่แพทย์ระบุว่าภูมิคุ้มกันจะมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเข็มที่ 2 ผ่านไปใน 3- 4 สัปดาห์ โดยครั้งนั้น คนที่ฉีดครบ 2 เข็ม ภูมิขึ้นเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ มีประสิทธิภาพในการยับยั้งความรุนแรงหากติดเชื้อโควิดค่อนข้างได้ดี แต่ผ่านมาอีก1เดือน หรือ 60 วันหลังฉีดเข็มที่ 2 ตรวจซ้ำอีกครั้ง ปรากฏว่า ภูมิลดลงไปเกินครึ่งจากเดิม นอกจากนี้ ยังอีก 2 ตัวอย่างที่มีผลตรวจยืนยันด้วย แต่จะเหมือนหรือต่างกัน แพทย์อธิบายผลต่างต่อไปนี้อย่างไร


19 กรกฎาคม กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูล ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค จะสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่าได้กว่าร้อยละ 90 อ้างอิงจากการศึกษากลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม ในพื้นที่ภูเก็ตและสมุทรสาคร


ด้วยการระบาดโควิด-19 ในขณะนั้น กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ วัคซีนจึงกลายเป็นความหวังว่า จะช่วยให้ลดความรุนแรงหากรับเชื้อได้ ขณะที่ไทย มีการนำเข้าวัคซีนหลักเพียง 2 ยี่ห้อ โดยแอสตราเซเนกา ถูกจัดสรรให้กับกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคประจำตัวเรื้อรัง ซิโนแวค จึงกลายเป็นวัคซีนที่คนในวัยแรงงานและบุคลากรทางการแพทย์ต้องลงทะเบียนรับแบบไม่มีตัวเลือก


ซึ่งข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ ไทยได้นำเข้าวัคซีนจากซิโนแวคแล้ว จำนวน 14 ล้าน 5 แสนโดส และ มีแผนที่จะนำเข้าให้ครบ 19 ล้านโดสในปีนี้ โดยที่สัญญาการจัดซื้อและจัดหาจนถึงราคาที่รัฐต้องจ่ายไปในการซื้อวัคซีนต่อหน่วย ต่อโดส กลับกลายเป็นความลับ ที่อ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงและอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องปกปิด


ทำให้มีคำถามจากคนจำนวนไม่น้อยกว่า วัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิเพียงพอที่รัฐต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนไปเพื่อมาฉีดให้กับประชาชนทั้งก่อนหน้าและอนาคตหรือไม่


ในขณะที่การตรวจสอบภูมิเต็มไปด้วยข้อกัดที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึง ที่จะรับรู้ผลหลังการฉีดเข้าสู่ร่างกายไป ว่า จะมีประสิทธิภาพสูงอย่างที่มีการยืนยันหรือไม่


ทีมข่าว 3 มิติ ที่รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค จึงอาสาจะตรวจหาภูมิคุ้มกันของตัวเอง และผลการตรวจวัดปริมาณภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม ผ่านมา 28 วันของ นายจตุรงค์ สุขเอียด ปรากฏว่า ผลการตรวจสไปค์ ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพียง 12.9 หน่วยเท่านั้น ยังไม่เพียงพอจะเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ภูมิคุ้มกันได้


ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม จึงครบเข็มที่ 2 เมื่อผ่านมา 31 วัน จึงเข้าไปเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันอีกครั้ง ครั้งนี้ได้ค่า 428.4 หน่วย สามารถเทียบเป็นค่ายับยั้งเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ 40.38%


ตัวอย่างต่อมา คือ ธีรุตม์ นิมโรธรรม เคยตรวจวัดภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็มผ่านไป 1 เดือนเต็ม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ปรากฎว่าค่าสไปค์ ขึ้นมาสูง ที่ 1249.1 สามารถเทียบเป็นค่ายับยั้งไวรัสได้ 76.11% แต่หลังฉีด เข็มที่ 2 ผ่านไป 2 เดือน เมื่อเจาะเลือดตรวจใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 5 สิงหาคม ปรากฏว่า ค่าสไปค์ เหลือเพียง 495 ลดลงไปจากเดิมมากกว่าครึ่ง


ไม่เฉพาะ 2 ตัวอย่างแรกเท่านั้น เพราะ มีผู้ที่ได้รับวัคซีนจากซิโนแวคครบ 2 เข็ม และตรวจภูมิคุ้มกันถึง 2 ครั้ง อีกราย ที่ตกใจเช่นกัน เมื่อตรวจวัดภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ครั้งแรกเธอเล่าว่าได้ระดับภูมิคุ้มกัน ราว 611 ก่อนที่จะไปตรวจอีกครั้งหลังผ่านไปประมาณ - 1 เดือน จึงพบกับความประหลาดใจเมื่อค่าที่ได้ลดลงมาเหลือเพียง 107.4 เท่านั้น หายไปกว่า 82%


ล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุ มีผู้ฉีดวัคซีนของซิโนแวคแล้วกว่า 20 ล้านโดส ในจำนวนนี้เป็นซิโนแวค เกือบ 50% ของผู้ได้รับวัคซีน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์เดลต้าแล้วกว่า 86%


ขณะที่ไทยยังคงแผนนำเข้าซิโนแวคอีก 28 ล้านโดสในปี 2565 โดยแผนการฉีดวัคซีนในปัจจุบันกลับใช้วิธีฉีดสลับเข็มระหว่างเข็มแรกกับเข็มที่ 2 เป็น ซิโนแวค กับ แอสตราเซเนก้า ท่ามกลางข้อสงสัยของหลายคน ว่า วัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับงบประมาณที่จ่ายออกไปเพียงใด

คุณอาจสนใจ

Related News