สังคม

7 สายการบินวอนรัฐเห็นใจ ช่วยซอฟท์โลน 5 พันล้าน รักษาการจ้างงานพนักงาน

โดย panisa_p

21 ก.ค. 2564

145 views

สมาคมสายการบินประเทศไทย นำโดย นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการของ 7 สายการบิน จัดประชุมนัดพิเศษในรูปแบบ virtual conference หลังถูกระงับบินชั่วคราวตามคำสั่งของ ศบค. ตั้งเเต่วันนี้ (21 กรกฎาคม 2564) โดยออกเเถลงการณ์ร่วม เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ทางรัฐบาลจะจัดสรรให้กับสายการบินทั้ง 7 สาย โดยทางสมาคมฯ ได้ยื่นเอกสารไปตั้งเเต่การระบาดของโควิด-19 รอบเเรก (เดือนมีนาคม 2563) และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง


นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังได้เข้าพบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 เพื่อร้องขอให้เร่งพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทางสมาคมฯ ได้ส่งหนังสือติดตามล่าสุดอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่ง ณ ปัจจุบนก็ยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 478 วัน ตั้งแต่วันแรกที่ทางสมาคมฯ ยื่นหนังสือฯ


ทั้งนี้ ล่าสุดสมาคมฯ ได้ปรับลดตัวเลขวงเงินการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) รวมของทั้ง 7 สายการบิน จากจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท (จากการยื่นขออนุมัติครั้งเเรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563) เหลือเพียง 5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมเกือบ 2 หมื่นคน ในครึ่งปีหลังของ 2564


จากมาตรการรัฐบาลล่าสุดในการจำกัดการเดินทาง ส่งผลต่อการระงับการให้บริการชั่วคราว ในทุกเส้นทางบินเข้าออกพื้นที่สีเเดงเข้ม ตั้งเเต่ 21 กรกฎาคม 2564 (วันนี้) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัจจุบัน 7 สายการบิน มีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมกว่า 900 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบินอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินว่าอาจจะเเบกรับภาระไม่ไหว หากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือเเละเยียวยาจากภาครัฐโดยเร่งด่วน และอาจส่งผลต่อการกลับมาให้บริการในอนาคตของสายการบิน


ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ โดย 7 สายการบิน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณามาตรการความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยประคองธุรกิจสายการบินเเละการจ้างงานพนักงาน รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบความเสียหายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเเละท่องเที่ยวภาพรวม เนื่องจากสายการบินคือธุรกิจด่านหน้าสำคัญ ที่เชื่อมต่อให้เกิดการกระจายเเละสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ


นายนัตดา บูรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมเกือบ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบินอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินว่าอาจจะเเบกรับภาระไม่ไหว หากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือ เเละเยียวยาจากภาครัฐโดยเร่งด่วน และอาจส่งผลต่อการกลับมาให้บริการในอนาคตของสายการบิน


ด้านนายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวเสริมว่า วงเงินซอฟต์โลน 5,000 ล้านบาทที่ทางสมาคมฯ ยื่นเสนอขอไปล่าสุดนี้ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการพยุงการจ้างงานของทั้ง 7 สายการบิน ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมหาศาลที่ทุกสายการบินต้องแบกรับภาระไว้ในช่วงที่มีคำสั่งให้หยุดทำการบินครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีน การกระจายวัคซีน รวมถึงสภาพคล่องของแต่ละสายการบิน แต่หากสถานการณ์ติดเชื้อยังเพิ่ม และทำให้สายการบินต้องหยุดบินเกิน 3 เดือน วันนั้นคงไม่มีสายการบินเหลืออยู่บนหน้าฟ้าแล้ว ตายหมดทุกรายแน่นอน


ทั้งนี้ หากได้รับการสนับสนุนซอฟต์โลนจากรัฐบาล 5,000 ล้านบาทรอบนี้จะทำให้ทั้ง 7 สายการบินสามารถประคองการจ้างงานไปได้จนถึงสิ้นปี และเมื่อถึงวันที่รัฐบาลต้องการกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งทุกสายการบินก็พร้อมที่จะเป็นหัวหอกในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามา และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News