สังคม

เฝ้าระวัง โรงงานหมิงตี้ หวั่นไฟปะทุซ้ำ ห่วงรัศมี 2 กม. ยังพบ 2 สารเคมีเกินมาตรฐาน

โดย thichaphat_d

7 ก.ค. 2564

8 views

เมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) ความคืบหน้าการเร่งดับเพลิงเหตุระเบิดโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ หลังจากช่วงเช้าของวานนี้ เกิดเปลวเพลิงปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และเกิดเสียงดังติดต่อกันหลายครั้งเป็นระยะตลอดทั้งวัน แต่เจ้าหน้าที่สามารถดับไฟได้เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งคงฉีดน้ำเลี้ยงเพื่อให้อุณหภูมิลดลง และยังคงตรึงกำลังบางส่วนและรถดับเพลิงไว้ในพื้นที่


แต่ปรากฏว่าช่วงเย็นเวลาประมาณ 17.00 น. เกิดเปลวเพลิงได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง บริเวณด้านหลังโรงงานใกล้กับบ่อเก็บสารเคมี จนเกิดกลุ่มควันสีดำพวยพุ่งขึ้นมาอีกรอบสลับกับเสียงดังคล้ายระเบิดเป็นระยะ โดยกลุ่มควันไฟลอยต่ำ ทิศทางไปด้านสนามบินสุวรรณภูมิ และวัดกิ่งแก้ว ซึ่ง บริเวณข้างวัดกิ่งแก้วนั้นมีกลุ่มประชาชนอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้เพลิงได้ปะทุขึ้นเป็นครั้งที่ 4


ต่อมาเวลา 17.18 น. มีฝนตกลงมาในพื้นที่ ทำให้อาจเป็นอุปสรรคต่อการดับเพลิงในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ระดมรถดับเพลิงกลับเข้ามาในพื้นที่อีกครั้ง พร้อมทั้งใช้โฟมฉีดระงับเปลวเพลิง เพื่อควบคุมสถานการณ์


ต่อมาเวลา 17.30 น. กลุ่มควันดำได้จางลง สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ฉีดโฟมเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางฝนที่ยังตกลงมาอยู่และมีลมแรงในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงบริเวณบ่อสารเคมีได้เป็นผลสำเร็จ แต่เจ้าหน้าที่ยังฉีดน้ำยาโฟมเข้าไปเพื่อไม่ให้เกิดการปะทุใหม่ขึ้นมาอีก จากนั้นไฟได้ดับลงแล้วแต่ยังมีกลุ่มควันเล็กน้อย


จนกระทั่ง 20.55 น. ยังไม่มีการปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และไม่มีกลุ่มควันแล้ว โดยสถานการณ์ ยังอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง เพราะสารเคมีที่อยู่ภายในโรงงาน ยังสามารถปะทุได้ ตลอดเวลาหากมีความร้อนและการเผาไหม้อยู่ โดยมีรถ ดับเพลิง ประมาณ 5-6 คัน จอดสแตนด์บาย พร้อมฉีดสารเคมีโฟมทันที หากมีการปะทุขึ้นมาอีกครั้ง


นอกจากนี้ยังมีรถกู้ภัยและรถพยาบาลเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้จากเหตุการณ์ปะทุขึ้นในช่วงเย็นที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ2นาย โดยเจ้าหน้าที่ได้นำส่งโรงพยาบาลแล้ว


ด้านนายปภินวิช ละอองแก้ว หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยสาเหตุ ที่เกิดการปะทุ อีกครั้งว่าเป็นเพราะ สารเคมีโฟมที่ฉีดสกัดเพลิงไหม้ เกิดเป็นแผ่นเคลือบไว้ เมื่อเจอความร้อนและอากาศ ทำให้เกิดการละลาย หรือแตกร้าว เหมือนรอยร้าวดินแห้ง ทำให้เกิดการปะทุ


อย่างไรก็ตามสถานการณ์ขณะนี้ ยอมรับว่ายังวางใจไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนแผนการควบคุมสถานการณ์ให้จบเร็วขึ้นเพราะสามารถปล่อยสถานการณ์ไว้อย่างนี้ได้ โดย ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ระดมเจ้าหน้าที่กู้ภัย จากท้องที่ต่างๆ มาสลับผัดเปลี่ยนเฝ้าระวังสถานการณ์


นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชจังหวัดสมุทรปราการ เผยว่า ทางกรมควบคุมมลพิษ ได้เข้ามาตรวจสอบอันตรายจากสารพิษตกค้าง โดยต้องให้มั่นใจว่าปลอดภัยแล้ว จึงจะให้ประชาชนกลับเข้าที่พัก รวมถึงการเปิดการจราจรโดยรอบ แต่ตอนนี้ขอประเมินก่อน ส่วนสารเคมีที่อยู่ในแทงก์ ที่ไปปิดวาล์วต้องนำออกมา โดยจะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของ


ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แม้ผลตรวจคุณภาพอากาศโดยรวมในสถานีตรวจวัดทั้ง 5 แห่งจะได้มาตรฐาน แต่ในพื้นที่รัศมี 2 กิโลเมตร รอบโรงงาน โดยสาร ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ และ ‘ฟอร์มาดิไฮด์’ ยังสูงเกินค่ามาตรฐานอยู่ แม้จะลดความเข้มข้นลงบ้างแล้วจากไฟไหม้ที่ดับควบคุมได้แล้ว จึงยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในรัศมี 1 กิโลเมตร คือ ไซเว้นท์ ที่ติดไฟง่าย ขณะที่สไตรีนโมโนเมอร์เป็นองค์ประกอบทำเม็ดพลาสติกเมื่อลุกไหม้จะปลดปล่อยสารพิษอันตรายต่อร่างกาย


เมื่อวันที่ 5 ก.ค. กรมควบคุมมลพิษได้เปิดเผยค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน พบในรัศมี 1 กิโลเมตร เข้มข้น 1,035.47 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนตัวเลขวันนี้อยู่ระหว่างสรุปผล ส่วนคุณภาพน้ำทาง จนท. กรมควบคุมมลพิษได้เก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำ ลำคลองรองโรงงาน เพื่อตรวจคุณภาพน้ำ ทั้งนี้จะติดตามด้านมลพิษต่อเนื่อง 3 วัน แต่ห่วงหากเกิดฝนตก อาจชะล้างสารเคมีลงใต้ดิน แหล่งน้ำ หรือท่อระบายน้ำยากต่อการควบคุม ต้องบำบัดต่อไป


ด้านกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่งรถโมบายเคลื่อนที่ ตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณโรงงานหมิงตี้ แจ้งผลรายงานประชาชน 24 ชั่วโมง แบบเรียลไทม์ ทั้งนี้สำหรับโรงงานนี้ตั้งอยู่ในโซนพื้นที่สีม่วง สามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเป็นโซนสีแดง เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยได้


นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า จากการตรวสอบกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมย้อนกลับไป พบว่าบริษัท หมิงตี้ ได้จัดตั้งและสร้างโรงงานบนพื้นที่เกิดเหตุ ตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งสมัยนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังถูกจัดเป็นพื้นที่โซนสีม่วง ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ มีการทำ EIA และ EHIA อย่างถูกต้อง กระทั้งในปี 2556 รัฐต้องการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ จึงได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนผังเมืองใหม่อีกครั้ง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นโซนพื้นที่สีแดง ที่สามารถจัดสร้างที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งแม้จะมีการปรับผังเมืองหลายครั้ง แต่โรงงานหมิงตี้ ก็ยังตั้งอยู่และไม่ถูกย้ายออกไป แม้ชุมชนจะขยายออกมา จนติดรั้วโรงงาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องถามกลับไปกับทางจังหวัดสมุทรปราการ ถึงประเด็นการปรับเปลี่ยนผังเมืองดังกล่าว


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/_gF4c0z_94M

คุณอาจสนใจ

Related News