สังคม
ไทยยอดป่วยโควิดพุ่ง +6,230 ราย - สธ.รับวิกฤตเตียงตึง ผู้ป่วยตกค้างนับพัน
โดย panwilai_c
3 ก.ค. 2564
41 views
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งสูงต่อเนื่อง ทำให้ 3 หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาชี้แจงอีกครั้ง โดยยอมรับว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ต้องใช้คำว่า ภาวะเตียงตึง แต่ก็ยืนยันว่า ระบบสาธารณสุขของไทย ยังไม่ถึงจุดล่มสลายแม้จะยอมรับว่ามีผู้ป่วยตกค้างนับพันคน และเตรียมแผนการรักษาที่บ้าน
ศบค.รายงานยอดติดเชื้อรายใหม่ วันนี้อยู่ที่ 6,230 คน มาจากระบบเฝ้าระวัง 4,412 คน มาจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 1,520 คน จากเรือนจำที่ต้องขัง 294 คน และจากต่างประเทศ 4 คน เสียชีวิตเพิ่ม 41 คน ผู้ป่วยอาการหนักทะลุ 2,045 คน สำหรับผู้เสียชีวิต มีอายุตั้งแต่ 30-88 ปี จากกทม. 29 คน / ยะลา-สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 คน / กาญจนบุรี - กำแพงเพชร - ฉะเชิงเทรา - นนทบุรี-นครนายก -ระนอง -อ่างทอง-อุดรธานี จังหวัดละ 1 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ สูงสุดยังเป็นกทม. 1,971 คน สมุทรปราการ 479 คน ,ปทุมธานี 448 คน ,ชลบุรี 294 คน และ สมุทรสาคร 277 คน
นพ.สมศักดิ์ อัครศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยอมรับว่า สถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด-19 ค่อนข้างตึง มีผู้ป่วยที่ตกค้างหลักพันคน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พุ่งสูงต่อเนื่อง โดยย้ำว่าหากไม่จำเป็น ไม่อยากใช้แนวทาง "home isolation" หรือการรักษาที่บ้าน ขณะนี้จึงเลือกใช้เฉพาะบางพื้นที่ โดยส่งปรอทวัดไข้ / เครื่องวัดออกซิเจนในกระแสเลือด / ส่งอาหารให้ 3 มื้อ และวีดีโอคอลติดตามอาการวันละ 2 ครั้ง แต่เบื้องต้นก็พบปัญหา ว่า "home isolation" อาจใช้ได้กับบุคคลบางประเภท จากนี้จึงจะใช้แนวทาง "Community isolation" คือ การนำคนป่วยบางส่วนมาอยู่บ้านพักคอย ที่จะใช้พื้นที่ศาลาวัด ห้องประชุมโรงเรียน
ที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ชี้แจงกรณีที่โรงพยาบาลเอกชน ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการจัดหาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาที่ล่าช้า เพิ่มเติมจากเมื่อวานนี้ หลังจาก ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่ยอมเซ็นสัญญาจัดซื้อ
นพ.วิฑูรย์ บอกว่า ต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมข้อมูล และเงินจากการจองวัคซีนมาก่อน หากจะให้องค์การเภสัชกรรมไปเซ็นสัญญาก่อนไม่สามารถทำได้ เพราะรับผิดชอบไม่ไหว เนื่องจากราคาแพงและมีจำนวนมาก เมื่อได้รับเงินจากโรงพยาบาลเอกชนแล้วองค์การเภสัชกรรม ก็จะได้ดำเนินการเซ็นสัญญากับบริษัทซีลลิค ในต้นเดือนหน้าตามแผน จึงขอให้ประชาชนเข้าใจถึงกระบวนการ
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ในวันจันทร์ที่ 5 กรกฏาคมนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด ตรวจสอบเงื่อนไขสัญญาการสั่งซื้อเรียบร้อยแล้ว และนำส่งมายังรัฐบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม ก่อนที่จะลงนามสั่งซื้ออย่างเป็นทางการได้ และองค์การเภสัชกรรมจะเร่งดำเนินการเจรจาเพื่อให้การส่งมอบเร็วขึ้น เนื่องจากพบว่ามีความต้องการของประชาชนจำนวนมาก
แท็กที่เกี่ยวข้อง โควิด19 ,ยอดผู้ติดเชื้อ ,เตียงเต็ม ,วัคซีนโควิด19