สังคม

นักวิชาการเสนอนำทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้น กลับคืนสู่ท้องถิ่นที่จากมา

โดย panwilai_c

29 พ.ค. 2564

77 views

นักวิชาการอิสระและหนึ่งในคณะกรรมการติดตามทวงคืนโบราณวัตถุของไทย ยืนยันว่าส่งหลักฐานเพื่อติดตามทวงคืนโบราณวัตถุของไทยอีกหลายรายการต่อสหรัฐไปแล้ว ต่อเนื่องจากทับหลัง 2 รายการ ที่มาถึงไทยเมื่อคืนนี้ และเห็นว่าควรจะนำทับหลังดังกล่าวกลับไปอยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้คนในท้องที่มีส่วนร่วมดูแลหลักฐานทางประวัติศาตร์นี้


บทเพลงที่โด่งดังของคาราบาว เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงการตื่นตัวของคนไทย ในปี 2531 เพื่อติดตามทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ของปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งพบว่าถูกนำไปจัดแสดงที่สถาบันศิลปะนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา และการตรวจสอบในขณะนั้นก็เชื่อว่าถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2503 ช่วงสงครามเวียดนาม ที่สหรัฐมาตั้งฐานทัพในประเทศไทย


การนำเสนอข้อมูล หลักฐานและการตื่นตัวทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นวงกว้างทั้งในประเทศและที่สหรัฐ ทำให้สถาบันศิลปะนครชิคาโก คืนทับหลังให้ทางการไทยทวงคืนมาหลายปี โดยกลับสู่มาตุภูมิแผ่นดินไทยเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2531 หรือเมื่อ 33 ปีมาแล้ว ตอนนี้ทับหลังนารายร์บรรทมสิน กลับไปประดิษฐานที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์แล้ว


การมาถึงไทยของทับหลังปราสาทเขาโล้นและทับหลังปราสาทหนองหงส์ เมื่อคืนนี้ นับเป็นการกลับสู่มาตุภูมิแผ่นดินไทย อีกครั้งของวัตถุโบราณในกลุ่มทับหลัง เพราะแม้สหรัฐจะส่งคืนวัตถุโบราณให้ไทยเป็นระยะ แต่ที่ผ่านมามักเป็นพระพุทธรูป และเครื่องชามสังคโลก ต่างๆ และบนข้อสันนิษฐานว่าทับหลังปราสาทเขาโล้น และประสาทหนองหงส์ น่าถูกขบวนการค้าวัตถุโบราณลักลอบส่งออกไปขาย ตั้งแต่ปี 2509 กระทั่งอยู่ในการครอบครองของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชอง มูน ลี เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอเนียร์ สหรัฐฯ และไทยติดตามทวงคืนกลับมาได้ นี่จึงเป็นการกลับสู่มาตุภูมิหลังจากหายไปเมื่อ 55 ปีก่อน


อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเรียกร้องจากประชาชนทั้งที่สระแก้ว และบุรีรัมย์ที่ต้องการให้นำทับหลังทั้งสองรายการ กลับไปประดิษฐานที่ปราสาททั้ง 2 ดังเดิม แต่แนวทางจากกรมศิลปากรยังไม่กำหนดชัดเจนตอนนี้ว่านำไปประดิษฐานแบบถาวร ณ ที่ใด


และหากเทียบกับแนวทางที่กรมศิลปากรดำเนินการกรณีวัตถุโบราณหลายรายการคือ เก็บรักษาทับหลัง หรือวัตถุโบราณของจริงไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ด้วยเหตุผลว่ามีความพร้อมในการเก็บรักษา ทั้งความปลอดภัยและสภาพอากาศ ที่ไม่ต้องเผชิญฝน หรือร้อน ซึ่งเป็นตัวแปรต่อการเสื่อมสภาพของโบราณวัตถุ ขณะเดียวกัน ก็ทำแบบจำลอง จากของจริง ให้ไปประดิษฐาน ณ ปราสาท นั้นๆ เพื่อให้จัดแสดงให้ประชาชนได้ชม


อย่างไรก็ตาม นี่เป็นแนวทางการจัดการโบราณวัตถุหลายรายการที่ผ่านมา แต่กรณีทับหลัง 2 รายการดังกล่าว ยังไม่ได้กำหนดชัดเจนถึงที่ประดิษฐานถาวร แต่แน่ชัดแล้วว่า หลังจากมีพิธีบวงสรวงทับหลัง 2 รายการ ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้แล้ว กรมศิลปากรเตรียมจัดแสดงทับหลังทั้ง 2 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นเวลา 3 เดือน


ขณะนักวิชาการอิสระในนามกลุ่มสำนึก 300 องค์ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการติดตามทวงคืน ของรัฐบาล ระบุว่า ทับหลัง 2 รายการควรได้กลับไปอยู่ในที่ตั้งเดิมทั้งที่โนนดินแดง และตาพระยา แต่หากในพื้นที่ไม่พร้อมในการดูแลรักษาให้คงสภาพสมบูรณ์ ก็ควรเก็บในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในพื้นที่รับผิดชอบ


การทวงคืนทับหลังทั้ง 2รายการและพระพุทธรูปอีก 13 องค์ ที่จะตามมา ยังถูกมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีของความร่วมมือในการติดตามทวงคืนวัตถุโบราณของไทยอีกไม่น้อยที่ถูกโจรกรรมออกไปตั้งแต่เมื่อกว่า 60 ปีก่อน และอาจจะคืบหน้าได้มาก หากข้อมูล หลักฐานและท่าทีของไทยในการติดตามทวงคืน มีความชัดเจนเช่นนี้

คุณอาจสนใจ