ข่าวโซเชียล

เพจดังเตือนอย่าหาทำ เปลือกทุเรียนทำอาหาร ชี้มีเชื้อรา กินแต่เนื้อพอ อย่าเสียดายเปลือกเลย

โดย thichaphat_d

21 พ.ค. 2564

266 views

จากกระแสการนำเปลือกทุเรียนมาประกอบอาหาร ในช่วงทุเรียนฟีเวอร์ ล่าสุดเพจ ควายดำทำเกษตร ได้ชี้แจงว่าไม่ควรนำเปลือกทุเรียนมาทำอาหาร


เนื่องจากปกติบนเปลือกทุเรียนจะมีพวกเชื้อราที่อยู่บนเปลือกทุเรียน นั่นคือสาเหตุว่าทำไมชาวสวนทุเรียนต้องพ่นสารกำจัดโรคพืช หรือ ยารา เพราะมันจะไปทำให้เปลือกทุเรียนดำ เป็นโรค และทำให้ขายไม่ได้ราคา และอีกอย่างถ้าส่งออกแล้วมีเชื้อราติดเข้าไปกับตู้ส่งออก จะทำให้มีปัญหาเรื่องการส่งออกไปต่างประเทศด้วย


โดยเชื้อราที่อยู่บนลูกทุเรียน หลักๆก็พวกไฟท๊อปเธอร่า เชื้อราลาซิโอดิพโพลเดีย ธีโอโบรมี เชื้อราโฟมอปซีส ซึ่งชาวสวนก็ต้องพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดโรคและรวมไปถึงพวกแมลงต่างๆที่เข้ามาทำลายลูกด้วย เพราะแมลงศัตรูพืชอย่าง หนอน เพลี้ยแป้ง ก็สร้างความเสียหายให้กับลูกทุเรียนเช่นกัน


มีข้อมูลจากงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำรายงานวิจัยเรื่องสารตกค้างบนเปลือกและเนื้อทุเรียนเอาไว้ว่า


1.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์วิจัยพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร ร่วมมือกับ ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน และ สมาคมชาวสวนผลไม้จังหวัดชุมพร ได้ศึกษาโอกาสของการปนเปื้อนสารกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ตกค้างในทุเรียน เพื่อให้ทราบข้อมูลพื้นฐานในการจัดการควบคุมคุณภาพของทุเรียน


2.จากการตรวจสอบพบสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชจากตัวอย่างทดลอง พบว่าเปลือกของทุเรียน มีโอกาสพบสารตกค้างได้มากกว่าส่วนเนื้อของทุเรียนจากผลทุเรียนผลเดียวกัน


3.จากผลการตรวจพบว่า สารเคมีที่มีโอกาสตรวจพบได้บ่อยครั้ง คือ สารเมทาแลคซิล ที่เป็นสารกำจัดโรคพืชอย่าง ไฟทอปเธอรา ที่ชาวสวนใช้กันบ่อยครั้ง ทำให้มีโอกาสตรวจพบการตกค้างที่เปลือกทุเรียนได้มากกว่าส่วนเนื้อของทุเรียน และตามที่ตรวจปริมาณการตกค้างพบว่าไม่เกินค่ากำหนดที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้


4.สารที่พบการตกค้างรองลงมาจาก สารเมทาแลคซิล คือ สารไซเปอร์เมทริน ที่เป็นสารกำจัดแมลง พบว่ามีสารตกค้างที่เปลือกเกินค่าที่กฎหมายกำหนด แต่ในเนื้อทุเรียน พบว่าค่าตกค้างน้อยกว่ากำหนด ไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และจากการทดลองคือทดลองจากทุเรียนที่พ่นสารไซเปอร์เมทรินแล้วเว้นระยะ 10 วันก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งถ้าเป็นตามหลักความปลอดภัยต้องเว้นระยะเก็บเกี่ยวหลังจากพ่นสารไปประมาณ 14 วัน และสารที่มีโอกาสพบตกค้างที่เปลือกทุเรียนต่ำที่สุดคือ ไซฟลูทริน และ แลมป์ดา ไซฮาโลทริน (ในตัวอย่างเดียวกันที่นำมาตรวจ) คือเว้นระยะเพียง 10 วันก่อนเก็บเกี่ยวและนำมาตรวจ


5.สำหรับทุเรียนด้านการตรวจพบสารตกค้างพบว่าจากงานวิจัยของ Wanwimolruk ได้มีรายงานถึงความปลอดภัยในการบริโภคทุเรียน โดยไม่ต้องพะวงเรื่องสารพิษตกค้างซึ่งสอดคลองกับงานวิจัยนี้ที่มีการตรวจเปลือกและเนื้อผลรวมกัน เพราะสารเคมีตกค้างเข้าไปในเนื้อทุเรียนไปถึงผู้บริโภคได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารที่เกษตรกรใช้ตกค้างที่เปลือกมากกว่าที่เนื้อของทุเรียน


6.สรุปสารที่พบตกค้างบ่อยในผลทุเรียน ได้แก่ สารเมทาแลคซิล และ สารไซเปอร์เมทริน เป็นรายงานวิจัยเรื่องสารตกค้างบนเปลือกของทุเรียน ซึ่งปรกติชาวสวนจะเว้นระยะการพ่นสารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 10-15 วันกันอยู่แล้ว แต่ถึงแม้จะเว้นระยะ และ สารเคมีจะค่อยๆสลายตัวไป


แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรนำเปลือกทุเรียนไปแปรรูปทำอาหารอยู่ดี และเตือนผู้บริโภคอีกครั้งและหลายๆครั้งว่า อย่าหาทำ เข้าใจว่าทุเรียนมันแพง ต้องกินให้คุ้มค่า ควรกินแค่เนื้อทุเรียนก็พอแล้ว อย่าไปกินเปลือกเลย


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/rNtTXiy36V4

คุณอาจสนใจ

Related News