สังคม

บุกทลายแหล่งผลิต ‘ครีมเถื่อน’ ต้นทุนหลักสิบขายหลักร้อย อย.ชี้สารอันตรายเพียบ!

โดย mintra_t

4 ก.พ. 2564

714 views

วันที่ 4 ก.พ. 2564 ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว และจับกุมนายโจ อายุ 39 ปี หลังสืบทราบว่าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายครีมเถื่อนไม่ได้มาตรฐาน หรือที่เรียกว่าครีมฝาแดง ก่อนจะขยายผลไปจับผู้จำหน่ายรายใหญ่อีก 3 ราย ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ที่เป็นตัวแทนมารับครีมจากนายโจไปขายต่อ


โดยสามารถยึดของกลางเป็นครีมสำเร็จรูปพร้อมจำหน่าย 523 ถุง ครีมกระปุกฝาแดง 1,989 กระปุก, วิตามินซี 30 หลอด, ครีมรอบรรจุ 80 กิโลกรัม และอุปกรณ์การผลิต รวมมูลค่ากว่า 5 แสนบาท


พันตำรวจเอกเนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 4 ปคบ. ระบุว่า จากการเข้าไปจับกุมพบว่านายโจใช้บ้านเป็นแหล่งผลิตครีมเถื่อนทั้งหมด โดยที่สภาพของแหล่งที่ผสมก็ไม่ได้มาตรฐาน 


ทั้งนี้ นายโจให้การรับสารภาพว่า เนื่องจากตนเองอยู่จังหวัดสระแก้ว ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อ 1 ปีที่แล้ว เห็นมีคนใช้ครีมของประเทศเพื่อนบ้านแล้วขาว จึงสนใจสั่งซื้อวัตถุดิบที่ใช้ประกอบในครีมจากประเทศเพื่อนบ้าน มาผสมกับวัตถุดิบบางส่วนในประเทศไทยผสมเป็นครีมออกจำหน่าย และหลังจากที่ได้มีคลิปรีวิวในแอปพลิเคชันชื่อดัง มีการรีวิวสรรพคุณก็ยิ่งทำให้ครีมขายดียิ่งขึ้นจนแทบกวนไม่ทัน ปริมาณการผลิตก็ยิ่งเพิ่มขึ้น โดยต้นทุนแต่ละกระปุกอยู่ที่ 20 บาท และจำหน่ายในราคากระปุกเล็ก 120 บาท กระปุกใหญ่ 290 บาท


ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ครีมเถื่อนที่ยึดได้ในครั้งนี้เคยระบาดหนักในปี 2553 มักขายตามตลาดนัด ร้านค้าออนไลน์ ไม่มีเลขจดแจ้ง ไม่มีฉลาก หรือแสดงฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ มักโฆษณาอ้างรักษาสิว รอยแผลเป็น ฝ้า กระ ช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใส ดำกรรมพันธุ์ก็ขาวขึ้น เห็นผลใน 7 วัน 


ที่ผ่านมา อย. เคยตรวจพบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางพบทั้ง สารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ สเตียรอยด์ ซึ่งหากใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหน้าดำ ผิวบางลง แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย ผิวแตกลายถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับสารปรอทในปริมาณมาก อาจเกิดพิษสะสม ส่งผลให้ไตอักเสบ ซึ่งเคยมีผู้แพ้สารปรอทในเครื่องสำอางจนเสียชีวิตมาแล้ว หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556


เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐานผลิตขายเครื่องสำอางไม่ได้จดแจ้งและไม่มีฉลาก มีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากตรวจพบสารห้ามใช้จะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วหากพบเป็นการกระทำความผิดฐานใดก็จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป


คุณอาจสนใจ