ต่างประเทศ

เอาแล้ว! เกษตรกรจีนปลูก 'ทุเรียน' ในไห่หนานสำเร็จ คาดประเดิมผลผลิต 2,450 ตัน มิ.ย.นี้

โดย passamon_a

19 มี.ค. 2566

12K views

เว็บไซต์ เซย์ดอทคอม (Say.com) รายงานว่า บรรดาเกษตรกรชาวจีน ในมณฑลไห่หนาน ได้คิดค้นวิธีปลูกทุเรียนจนได้ผลผลิตงาม คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีทุเรียนมากถึง 2,450 ตัน


ด้าน นายกสมาคมทุเรียนไทย เผยไม่กระทบ หลังจีนผลิตทุเรียนได้สำเร็จในไห่หนาน เหตุผลิตได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากปริมาณส่งออกของไทยหลักล้านตัน อีกปัจจัยไทยทำชื่อเสียง สร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภคจีนไว้เป็นอย่างดี หากกังวลมองว่าโจทย์หลักคือทำอย่างไรให้คงคุณภาพไว้ และต้องเหนือชั้นกว่าที่อื่น เพราะปัจจุบันการแข่งขันสูงมาก



เว็บไซต์เซย์ดอทคอม รายงานโดยอ้างอิงจาก ไชน่า เพรส (China Press) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดย ไชน่า เพรส ได้โพสต์คลิปวิดีโอของชาวจีนคนหนึ่ง พาชมผลผลิตทุเรียนในสวนแห่งหนึ่งของมณฑลไห่หนาน


โดยชายชาวจีนในคลิป ระบุว่า เขารู้สึกดีใจ และไม่เชื่อว่าราชาผลไม้ อย่างทุเรียน จะเติบโตจากต้นที่ยังมีขนาดเล็กเช่นนี้ "ตอนนี้พวกเราไม่ได้อยู่ที่มาเลเซีย หรือ ประเทศไทย แต่เราอยู่ที่ไห่หนาน ประเทศจีน" และว่า "นี่คือทุเรียนหมอนทอง และต้นไม้พวกนี้ที่อยู่ล้อมรอบ ก็คือต้นทุเรียนทั้งหมด"


ชายหนุ่มคนดังกล่าว บอกด้วยว่า เกษตรกรคนหนึ่งบอกกับเขาว่า ที่ดินของเขาปลูกทุเรียนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในเขตหลิงซุย และต้นทุเรียนก็ออกผลในทุกฤดูกาล


รายงานระบุว่า สวนทุเรียนในไห่หนานตอนนี้ มีประมาณ 580 ไร่ หรือประมาณ 130 สนามฟุตบอล และในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ต้นทุเรียนเหล่านี้จะออกผลผลิตประมาณ 2,450 ตัน ซึ่งจากข้อมูลของ โพรดิวซ์ รีพอร์ท (Produce report) ซึ่งรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเกษตรของจีน พบว่า ทุเรียน 2,450 ตันนี้ คิดเป็น 0.3 เปอร์เซ็นต์ ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีนเมื่อปีที่แล้ว


ข้อมูลของ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ (South China Morning Post) ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว จีน ประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก นำเข้าทุเรียน 8 แสน 2 หมื่น 4 พันตัน มูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 แสน 3 หมื่น 5 พัน 680 ล้านล้านบาท


ขณะที่ วานนี้ (18 มี.ค.66) ทีมข่าวได้พูดคุยกับ นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จริง ๆ แล้วเมืองไห่หนานของจีน ทดลองปลูกมานานแล้วนับสิบปี แต่เป็นการปลูกเพื่อศึกษามากกว่า ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถปลูกไม้เขตร้อนได้ แต่ที่เหมาะสมก็มีพื้นที่ไม่มากเท่าไหร่


ส่วนปลูกมานานแต่เพิ่งมาประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น มองว่าเป็นกระแสมากกว่า ทั้งนี้จากการที่ดูคลิปมองว่าทุเรียนดังกล่าวเป็นพันธุ์หมอนทอง ซึ่งการปลูกทุเรียนของจีนนั้นปลูกได้ แต่ผลผลิตอาจไม่เต็มที่มาก เนื่องด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้อ ส่วนเรื่องของรสชาติเป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะอยู่ที่ว่าเติบโตมาได้สมบูรณ์แค่ไหน อย่างเช่นทุเรียนหมอนทองของจีนที่เราเห็นในภาพ หากมองในมุมมืออาชีพมองว่ายังไม่ใช่ทุเรียนที่มีคุณภาพ อาจจะไม่เปรียบเทียบกับของจีนก็ได้ แต่ถ้าเปรียบเทียบในไทยเอง ในรอบปีรสชาติของทุเรียนหมอนทองก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการเจริญเติบโตมากกว่า


เมื่อถามว่าภายหลังประเทศจีนสามารถผลิตทุเรียนได้ ในฐานะนายกฯ มองว่ามีผลกระทบต่อวงการทุเรียนไทยหรือไม่ นายวุฒิชัย กล่าวว่า มองว่าเป็นกระแสที่มีผลกระทบเพียงสั้น ๆ แต่ถ้าในภาพใหญ่มองว่าไม่ได้กระทบอะไร เพราะเป็นพื้นที่เล็ก ไม่ใช่พื้นที่ใหญ่อะไร


ทั้งนี้ ประเทศจีนถือเป็นตลาดทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเราก็เห็นการเจริญเติบโตของตลาดที่จีน ทำให้หลายประเทศมุ่งส่งผลผลิตเข้าไปขาย และหากมองมุมการส่งออกจากไทย กระทบหรือไม่นั้น นายวุฒิชัย ระบุว่า ถ้าในแง่ของปริมาณไม่กระทบ เพราะปริมาณที่ไทยส่งออกไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอยู่แล้ว มองว่ายังไม่ถึงจุดนั้น เพราะปกติแล้วเราส่งออกทุเรียนปริมาณเป็นล้านตัน แต่ที่เขาผลิตได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่หากมองเรื่องผลกระทบของราคา ถ้าหากกระทบก็อาจจะกระทบไม่มากและราคาอาจจะไม่ได้กระโดดไปหวือหวาเหมือนในอดีต


นายวุฒิชัย ยังกล่าวว่า จากกรณีนี้มองว่าเป็นบทเรียนใหม่ของวงการทุเรียนไทยมากกว่า ทุเรียนหลังโควิดมีอะไรให้จับตามอง อย่างเช่น ทุเรียนพันธุ์กระดุมทอง ที่มีการเกร็งราคาประมาณกิโลกรัมละ 300 กว่าบาท แต่พอไปถึงตลาดปลายทางราคาค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของจีนที่ไม่ค่อยดี ขณะเดียวกัน ทุเรียนพันธุ์กระดุมทองจะขายได้ก็ต่อเมื่อไม่มีทุเรียนพันธุ์หมอนทอง แต่ในปัจจุบันหมอนทองไปตลาดจีนแทบจะไม่ขาดเลย ส่งผลให้ราคาของทุเรียนพันธุ์กระดุมทอง ต้องไปเปรียบเทียบกับพันธุ์หมอนทอง แล้วไม่สามารถเกร็งกำไรเหมือนในอดีตได้ที่ว่าหากไม่มีหมอนทองราคาจะขึ้นไปสูงมาก


เมื่อถามว่าพอมีกระแสข่าวแบบนี้ออกไป หลายคนก็มองว่าไม่มีผลกระทบ เพราะยังไงก็ตามทุเรียนไทยคือที่สุดของทุเรียนแล้ว ในฐานะนายกฯ มองอย่างไรบ้าง นายวุฒิชัย ระบุว่า หากมองจริง ๆ ก็เป็นเช่นนั้น เพราะทุเรียนไทยโดดเด่นและมีชื่อเสียงในตลาดจีนมาค่อนข้างยาวนาน ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนเชื่อถือในเรื่องของคุณภาพของทุเรียนไทย


เมื่อถามย้ำว่า จากกรณีดังกล่าวเป็นกังวลเรื่องผลกระทบหรือไม่ในอนาคต นายวุฒิชัย กล่าวว่า ถ้าหากกังวล มองว่า ทุกวันนี้การแข่งขันเริ่มสูงขึ้น เราต้องย้อนกลับมาถามว่า คุณภาพทุเรียนไทยของเรา ดีพอที่จะแข่งขันต่อไปในตลาดในอนาคตหรือไม่ รวมทั้งประสิทธิภาพ การผลิต จะดีพอที่จะแข่งขันกับใครได้หรือเปล่า เพราะว่าประเทศไทยไม่ใช่เจ้าเดียวแล้วที่เอาไปขายที่จีนได้ เพราะเพื่อนบ้านรอบข้าง ประเทศอาเซียนก็สามารถส่งออกทุเรียนไปขายในจีนได้หมด ทั้งหมดทั้งมวลโจทย์หลักคือ ประเทศไทยเราต้องคงคุณภาพของทุเรียนไทยไว้ และไม่ใช่รักษาคุณภาพเท่านั้น ต้องพัฒนาหนีคู่แข่งขึ้นไปอีกชั้นให้ได้


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช ปี 2518 ระบุว่า พันธุ์ทุเรียนเป็น 1 ใน 11 พืชสงวน ห้ามส่งออก ฝ่าฝืนจำคุก หากฝ่าฝืนกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งจุดมุ่งหมายที่มีการกำหนดพืชสงวนขึ้นในพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 เนื่องจากเกรงว่าหากพันธุ์พืชที่ดีเหล่านี้ถูกนำไปปลูกในต่างประเทศแล้วจะกลับมาเป็นคู่แข่งทางการค้าได้จึงห้ามส่งออก พืชสงวนมีทั้งสิ้น 11 ชนิด คือ ทุเรียน ส้มโอ องุ่น ลำไย ลิ้นจี่ มะขาม มะพร้าว กวาวเครือ ทองเครือ สละ และสับปะรด



รับชมทางยูทูบที่ :  https://youtu.be/swc1s_fOHC0

คุณอาจสนใจ