ต่างประเทศ

'โจ ไบเดน' ประกาศถอนตัวจากศึกเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ

โดย parichat_p

22 ก.ค. 2567

49 views

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกาประกาศถอนตัวจากศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมประกาศหนุนรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสลงชิงชัยแทน


ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ตอนนี้ ตัวแทนของพรรคเดโมแครตจะไม่ใช่ไบเดน หลังจากเขาได้โพสต์แถลงการณ์ถอนตัวลงบนเอ็กซ์ เมื่อวานนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์มีใจความสำคัญว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับใช้ชาวอเมริกันทุกคนในฐานะของประธานาธิบดี แม้ว่าเขามีความตั้งใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ก็เชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อพรรคและประเทศ หากเขาถอนตัวและไปมุ่งเน้นการทำหน้าที่ประธานาธิบดีในระยะเวลาที่เหลืออยู่ และไบเดนจะออกมาแถลงการณ์อย่างเป็นทางการในภายหลัง เพื่อบอกรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตัดสินใจของเขา


ทั้งนี้ ไบเดนถูกกดดันอย่างหนักจากบรรดาผู้สนับสนุนของพรรคเดโมแครต จากอุปสรรคด้านอายุที่เยอะแล้ว ซึ่งไบเดนมีอายุ 81 ปี


นอกจากนี้ เรื่องปัญหาสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ไบเดนถอนตัว อีกทั้ง ในการดีเบตครั้งล่าสุด ไบเดนก็ทำได้ไม่ดีนัก จนทำให้คะแนนความนิยมตกต่ำลง หลายฝ่ายไม่เชื่อว่าเขาจะสามารถเอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันได้


ขณะเดียวกัน ไบเดนก็ได้ประกาศสนับสนุนให้ นางคามาลา แฮร์ริส หรือ กมลา แฮร์ริส เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตไปลงสู้ศึกเลือกตั้งแทนเขา


ซึ่งนางแฮร์ริสก็ได้ออกแถลงการณ์ตอบรับว่า เธอรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีไบเดน และเธอเองก็มีความตั้งใจที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ


นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวขอบคุณ ไบเดนที่เห็นแก่ชาวอเมริกันและประเทศชาติเหนือสิ่งอื่นใด พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำทุกวิถีทางให้พรรคเดโมแครตเป็นหนึ่งเดียว และสร้างความเป็นเอกภาพให้ประเทศชาติ เพื่อเอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์ และนโยบาย 2025 ที่สุดโต่ง


รองประธานาธิบดีแฮร์ริส เกิดที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นบุตรสาวของนายโดนัลด์ เจ.แฮร์ริส ชาวอเมริกันเชื้อสายจาไมกา นักเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กับ นางศยามลา โฆปาลัญ นักวิจัยโรคมะเร็งและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย โดยเธอได้รับการเลี้ยงดูจากคุณแม่ หลังจากทั้งสองหย่าร้างกันเมื่อเธอมีอายุ 5 ปี


แฮร์ริส จบการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด ซึ่งขณะศึกษา เธอเคยมีส่วนร่วมในประเด็นทางการเมืองต่าง ๆ เช่น การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ และความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา และจบการศึกษาระดับปริญญาเอก นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตแฮสทิงส์ และทำงานในสำนักงานอัยการเขตหลายแห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2553 และเป็นวุฒิสมาชิกแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2559


เมื่อครั้งที่ไบเดน เสนอชื่อให้แฮร์ริสเป็นคู่หูลงชิงเก้าอี้รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2563 ไบเดนได้ยกย่องแฮร์ริสว่า เป็นคนฉลาด แข็งแกร่ง ประสบการณ์สูงและเป็นนักสู้ตัวจริง


รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส เคยสร้างประวัติศาสตร์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อ 4 ปีก่อนมาแล้ว ด้วยการเป็นสตรี ผิวสี และเอเชียคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 แฮร์ริส เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการณ์ประธานาธิบดีเป็นเวลา 85 นาที ในขณะที่ไบเดนเข้ารับการตรวจร่างกาย


อย่างไรก็ดี ตอนนี้ รองประธานาธิบดีแฮร์ริสยังไม่ใช่ตัวแทนอย่างเป็นทางการ แต่เธอก็ถือว่าเป็นตัวเต็งคนสำคัญ เพราะตอนนี้ คู่แข่งคนสำคัญที่อาจเป็นผู้ท้าชิงในพรรคเดโมแครต อย่าง นายเกวิน นิวซอม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย, นายจอร์ช ชาปิโร ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย, นายฟิล เมอร์ฟีย์ ผู้ว่าการัฐนิวเจอร์ซีย์, และนายพีท บูติเจิจ รัฐมนตรีคมนาคม ต่างออกมาประกาศสนับสนุนรองประธานาธิบดีแฮร์ริส อย่างเป็นทางการแล้ว


ทั้งนี้ พรรคเดโมแครตจะมีการประชุมใหญ่เพื่อเสนอชื่อผู้สมัครตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 19 – 22 สิงหาคมนี้ หากมีผู้เสนอชื่อผู้ลงสมัครคนอื่น นอกเหนือจากรองปธน.แฮร์ริส อาจนำไปสู่การแข่งขันกันภายในพรรค และที่น่าจับตามองอีกประการหนึ่งคือ หากแฮร์ริส ได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว เธอจะเลือกใครมาเป็นคู่หูลงชิงชัยในตำแหน่งรองประธานาธิบดี และถ้าหากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง แล้วได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นมาจริง ๆ เธอจะเป็นผู้หญิงผิวสี และเชื้อสายอเมริกันเอเชียคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้


ด้านผู้นำโลกก็ออกมากล่าวชื่นชมประธานาธิบดีไบเดน ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้กล่าวขอบคุณไบเดนที่ให้การช่วยเหลือประเทศของเขา พร้อมกับยกย่องไบเดนที่สามารถตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบากนี้ได้อย่างเข้มแข็ง


ผู้นำยูเครนยังกล่าวว่า ไบเดนให้การสนับสนุนประเทศของเขาในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังช่วยเหลือพวกเขาขัดขวางปูตินไปให้เข้ามายึดครองยูเครนได้


ด้านนายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทัสก์ (Donald Tusk) ของโปแลนด์ยกย่องไบเดนที่สามารถตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบากได้มากมาย ทำให้โปแลนด์, อเมริกา, และโลกปลอดภัยมากขึ้น รวมถึง มีประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งขึ้น


นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เขาเคารพการตัดสินใจของไบเดน และเชื่อว่าการตัดสินใจของไบเดนคงเป็นสิ่งที่เขาเชื่อแล้วว่าดีที่สุดสำหรับชาวอเมริกัน


โอลาฟ์ ช็อลซ์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ก็บอกว่าไบเดนเป็นเพื่อนของเขา และไบเดนทำหลายอย่างสำเร็จ ทั้งเพื่อประเทศของเขา, ยุโรป, และทั่วโลก การตัดสินใจครั้งนี้ควรได้รับการเคารพ


ขณะที่นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นบอกว่า เขารู้ดีว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของไบเดนเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาสามารถทำได้ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่แข็งแกร่ง และเขาจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป


นอกจากนี้ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ บารัค โอบามาก็ออกมาแสดงท่าทีด้วย โดยบอกว่าไบเดนทำให้อเมริกากลับมามีจุดยืนในระดับโลก, ฟื้นฟูนาโต, พร้อมกับระดมทั่วโลกให้ลุกขึ้นมาต่อต้านการรุกรานของรัสเซียในยูเครน แม้ไบเดนจะมีสิทธิ์ลงสมัครลงเลือกตั้งอีกสมัย แต่การตัดสินใจของเขาก็คงจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความรักที่เขามีให้กับประเทศ


ด้านรัสเซีย นายดมิทรี เพสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกของรัฐบาลรัสเซีย ก็ออกมาบอกว่ากำลังจับตาเรื่องนี้อยู่ เพราะกว่าจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ยังเหลือเวลาอีกตั้ง 4 เดือน ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกหลายอย่าง



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/YOsM5u2E7VY

คุณอาจสนใจ