ต่างประเทศ
'กูเกิล' เผยผลการทดลองชิปประมวลผลตัวใหม่ เร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์
โดย nattachat_c
11 ธ.ค. 2567
312 views
'กูเกิล' ประกาศความสำเร็จของชิปประมวลผลควอนตัมรุ่นล่าสุดชื่อว่า 'วิลโลว์' (Willow) ที่สามารถประมวลผลอัลกอริทึมได้ภายในเวลาเพียง 5 นาที ในขณะที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกที่ชื่อว่า 'ฟรอนเทียร์' ต้องใช้เวลาถึง 10 เซปติลเลียน (Septillion) หรือคิดเป็น 1,025 ปี (สิบยกกำลัง 25 ปี) ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าอายุของจักรวาลหลายเท่า
ฮาร์ทมุต เนเวน ผู้ก่อตั้งโครงการ กูเกิล ควอนตัม เอไอ เปิดเผยว่า แม้อัลกอริทึมที่ใช้ทดสอบในครั้งนี้ จะยังไม่มีประโยชน์ในการใช้งานจริง แต่เป็นการพิสูจน์ศักยภาพที่สำคัญ ซึ่งกูเกิลตั้งเป้าที่จะนำเสนอกรณีการใช้งานจริงที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมไม่สามารถทำได้ ภายในปี 2025
ทั้งนี้ ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างคอมพิวเตอร์ควอนตัม กับคอมพิวเตอร์ทั่วไปอย่างสมาร์ทโฟน หรือ แล็ปท็อป นั้นก็คือ คือการทำงานที่อาศัยหลักกลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งเป็นการทำงานของอนุภาคระดับจิ๋ว ทำให้สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากๆ ได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมหลายล้านเท่า อย่างไรก็ตาม การควบคุมอนุภาคเหล่านี้ จำเป็นต้องควบคุมไม่ให้อนุภาคทำปฏิกิริยากับสิ่งรอบข้าง และต้องควบคุมอุณหภูมิให้ใกล้ศูนย์องศา
อีกทั้งชิป 'วิลโลว์' ยังสามารถแก้ปัญหาเรื่องอัตราความผิดพลาดระหว่างการประมวลผลที่เคยเป็นปัญหามานาน ซึ่งนักวิจัยของกูเกิล สามารถออกแบบ และโปรแกรม ชิปใหม่ ให้มีอัตราความผิดพลาดลดลงทั้งระบบ
ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคต คอมพิวเตอร์ควอนตัมจะมีประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การออกแบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน การพัฒนายา และเภสัชภัณฑ์ การพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ รวมถึงการแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์ อย่างการจัดการการขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือการจัดเส้นทางสัญญาณโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลต่าง ๆ และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลก ต่างทุ่มเงินมหาศาลลงทุนในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควอนตัม โดยในสหราชอาณาจักรมีธุรกิจด้านควอนตัมแล้ว 50 บริษัท