ต่างประเทศ

ศาลสหรัฐฯ ตัดสิน 'กูเกิล' มีพฤติกรรมผูกขาดตลาด 'เสิร์ชเอนจิน'

โดย nattachat_c

7 ส.ค. 2567

131 views

ผู้พิพากษาศาลสหรัฐฯ มีคำตัดสินว่า 'กูเกิล' (Google) ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด โดยทุ่มเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อต่อต้านการแข่งขัน และปิดกั้นนวัตกรรมใหม่ ๆ จนทำให้กูเกิลกลายเป็นบริการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตค่าเริ่มต้น หรือ ดีฟอลท์ (default) ที่ใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก

หลังจากการไต่สวนในช่วง 10 สัปดาห์ ที่ผ่านมา โดยมีการพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงคำให้การของผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล / ไมโครซอฟท์ และแอปเปิล  


จากนั้น ผู้พิพากษา อามิต เมห์ตา ได้ประกาศคำตัดสิน ระบุว่า “หลังจากที่ได้พิจารณา และชั่งน้ำหนักคำให้การ และหลักฐานต่าง ๆ ศาลได้ข้อสรุปว่า 'กูเกิล' เป็นธุรกิจผูกขาด และได้กระทำการต่าง ๆ เพื่อคงไว้ซึ่งการผูกขาดตลาด”

ผู้พิพากษา ย้ำว่า การที่กูเกิลคงความเป็นเจ้าตลาดเสิร์ชเอนจิน ก็คือหลักฐานชั้นดีที่พิสูจน์ให้เห็นถึงพฤติกรรมผูกขาด และว่า “กูเกิล ครองส่วนแบ่งตลาดบริการค้นหาข้อมูลทั่วไปถึง 89.2% และสูงถึง 94.9% บนอุปกรณ์เคลื่อนที่  ”

คำตัดสินนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางกฎหมายครั้งสำคัญของกูเกิล และอัลฟาเบต อิงค์ (Alphabet Inc) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ที่พยายามอ้างมาโดยตลอดว่า ความนิยมของกูเกิลเกิดจากความปรารถนาของผู้บริโภคเอง ที่ต้องการใช้งานเสิร์ชเอนจินที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม และตอบโจทย์ จนทำ 'กูเกิล' กลายเป็นคำที่สื่อความหมายถึงการเสิร์ชข้อมูลออนไลน์ที่ทุกคนเข้าใจกัน

ปัจจุบัน เสิร์ชเอนจินของกูเกิล มีการประมวลผลคำค้นหา (query) จากทั่วโลกประมาณ 8,500 ล้านครั้งต่อวัน หรือเกือบ 2 เท่า จากระดับเมื่อ 12 ปีที่แล้ว โดยทางด้าน เคนต์ วอล์กเกอร์ ประธานฝ่ายกิจการสากลของกูเกิล ระบุว่า บริษัทจะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของเมต้า

ทางด้าน เมอร์ริค การ์แลนด์ อัยการสูงสุดสหรัฐฯ ระบุว่า “ชัยชนะเหนือ กูเกิล ครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์สำหรับชาวอเมริกันว่า บริษัทจะใหญ่โต หรือมีอิทธิพลเพียงใด ก็ไม่สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จะยังคงมุ่งมั่นบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดของเราต่อไป”

คดีนี้ทำให้ กูเกิล ถูกมองว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใช้กลยุทธ์กำจัดคู่แข่ง และปกป้องเสิร์ชเอนจินของตัวเอง จนกลายเป็นศูนย์กลางของโฆษณาดิจิทัล ที่สร้างรายได้เกือบ 240,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.6 ล้านล้านบาท) ในปีที่แล้ว

-------------



คุณอาจสนใจ