ต่างประเทศ

สหรัฐฯกู้ ‘กล่องดำ’ อลาสก้า แอร์ไลน์ส ‘หน้าต่างหลุดกลางอากาศ’ ไม่สำเร็จ เหตุข้อมูล ‘โดนลบ’ ไปแล้ว

โดย nattachat_c

9 ม.ค. 2567

581 views

คณะกรรมการความปลอดภัยขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ (NTSB) ไม่พบข้อมูลจากกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบินของเครื่องบิน อลาสก้า แอร์ไลน์ส ที่เกิดเหตุผนัง และหน้าต่าง ปลิวหลุดกลางอากาศ จนต้องลงจอดฉุกเฉิน เมื่อวันศุกร์ 5 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากข้อมูลได้ถูกบันทึกทับไปแล้ว ในขณะที่มีการเก็บกู้

เที่ยวบิน 1282 ของ อลาสก้า แอร์ไลน์ส ซึ่งเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติพอร์ตแลนด์ เมื่อเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นวกกลับไปลงจอดที่สนามบินต้นทางอย่างปลอดภัย หลังลูกเรือแจ้งว่า “ระบบควบคุมความดันอากาศมีปัญหา” และจากภาพที่ถูกแชร์สะพัดในโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นว่า ชิ้นส่วนลำตัวเครื่องบิน และหน้าต่างบานหนึ่ง หรือที่เรียกรวมๆ ว่า ปลั๊กดอร์ 'plug door' ได้หลุดหายไป และหน้ากากออกซิเจนถูกปล่อยออกมา

เจนนิเฟอร์ โฮเมนดี ประธาน NTSB ระบุในการแถลงข่าวว่า กล่องบันทึกข้อมูลการบิน (เอฟดีอาร์) ซึ่งจะติดตั้งอยู่ท้ายเครื่อง และกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน (ซีวีอาร์) ของโบอิ้ง 737 MAX 9 ลำนี้ ได้ถูกส่งไปห้องปฏิบัติการของเอ็นทีเอสบี เพื่อทำการอ่านข้อมูล ทว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถกู้ข้อมูลจากกล่อง CVR ได้ เนื่องจากไม่มีใครเข้าไปตัดไฟภายในเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งการบันทึกเสียงจะเริ่ม และข้อมูลเก่าถูกลบ

ขณะเดียวกัน โฮเมนดี เผยด้วยว่า หัวหน้าทีมสอบสวนแจ้งพบชิ้นส่วนที่หายไปของเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 แม็กซ์ 9 หลังจากเจ้าหน้าที่ดำเนินการค้นหา โดยครูคนหนึ่งชื่อว่า บ๊อบ ได้พบชิ้นส่วนที่หายไปในสนามหน้าบ้านของตน ที่เมืองพอร์ตแลนด์ ซึ่งเครื่องบินลำเกิดเหตุขึ้นบินจากเมืองนี้ โดย โฮเมนดี ระบุว่า ชิ้นส่วนที่หายไปชิ้นสำคัญนี้ จะไขปริศนาเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ทางการอินโดนีเซียมีคำสั่งงดใช้เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 9 ของสายการบิน ไลอ้อน แอร์ หลังเหตุระทึกขวัญกลางอากาศบนเครื่องรุ่นเดียวกันของสายการบิน อลาสก้า แอร์ไลน์ ที่รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา

รายงานระบุว่า เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 9 ของสายการบิน “ไลออน แอร์”  มีสเป็กที่แตกต่างไปจากเครื่องของอลาสก้าแอร์ไลน์สที่เกิดเหตุ แต่กระนั้น อดิทา อิราวาตี โฆษกหญิงกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย ก็ยืนยันว่า ได้ระงับใช้เครื่องโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 9 ที่อินโดนีเซียมีอยู่ 3 ลำ โดยอินโดนีเซียจะประสานกับ สำนักงานการบินพลเรือน (เอฟเอเอ) และบริษัทโบอิ้ง เพื่อเฝ้าจับตาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัย

--------------

คุณอาจสนใจ

Related News