ต่างประเทศ
'เบลเยียม' ให้สิทธิแรงงานค้าบริการทางเพศ 'ลาคลอด-ลาป่วย-เงินบำนาญ' ประเทศแรกในโลก
โดย paweena_c
2 ธ.ค. 2567
100 views
โสเภณีในเบลเยียม ได้รับสิทธิลาคลอดและเงินบำนาญ ภายใต้กฎหมายที่ถือเป็นประเทศแรกของโลก
บีบีซี สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โสเภณีในประเทศเบลเยียม ได้รับสิทธิ์ในการลาคลอด รวมทั้งเงินบำนาญ ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ในเบลเยียมซึ่งเป็นประเทศแรกของโลก กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ทันที โดยผู้ขายบริการทางเพศจะมีสิทธิได้รับสัญญาจ้างงานอย่างเป็นทางการ ประกันสุขภาพ เงินบำนาญ วันลาคลอด และวันลาป่วย โดยพื้นฐานแล้ว ผู้ขายบริการทางเพศจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับงานอื่นๆ
'โซฟี' โสเภณีในเบลเยียมเล่าว่า “ฉันต้องทำงานแม้กระทั่งตอนที่ตั้งครรภ์ 9 เดือน และยังมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าหนึ่งสัปดาห์ก่อนคลอด” เธอต้องจัดการงานควบคู่กับการเป็นแม่ของลูกทั้งห้าคน ซึ่งเธออธิบายว่าเป็นเรื่องที่ “ยากมาก” เธอเล่าว่าหลังการผ่าคลอดลูกคนที่ห้า หมอแนะนำให้นอนพักฟื้น 6 สัปดาห์ แต่เธอไม่มีทางเลือกและต้องกลับไปทำงานทันที “ฉันหยุดไม่ได้ เพราะต้องการเงิน”
โซฟีบอกว่าชีวิตของเธอคงง่ายขึ้นมากหากเธอมีสิทธิลาคลอดและได้รับเงินช่วยเหลือจากนายจ้าง
กฎหมายใหม่ในเบลเยียมครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นฉบับแรกของโลก จะมีผลเริ่มบังคับใช้ทันที โดยให้ผู้ขายบริการทางเพศได้รับสัญญาจ้างงาน ประกันสุขภาพ เงินบำนาญ วันลาคลอด และวันลาป่วย ทำให้ผู้ขายบริการทางเพศได้รับการปฏิบัติเสมือนอาชีพอื่นๆ
“นี่คือโอกาสที่ทำให้เราได้ดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์” โซฟี กล่าว
ตั้งแต่ปี 2022 เบลเยียมยกเลิกความผิดทางกฎหมายกับการค้าบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี กรีซ เนเธอร์แลนด์ และตุรกี อย่างไรก็ตามกฎหมายล่าสุดของเบลเยียม ถือเป็นครั้งแรกในระดับโลก ในการกำหนดสิทธิการจ้างงานและสัญญาอย่างเป็นทางการของอาชีพค้าบริการทางเพศ
ถึงอย่างนั้นก็มีเสียงวิพากษ์และความหวังจากกฎหมายใหม่ นักวิจารณ์บางคนเชื่อว่าการค้าบริการทางเพศส่งเสริมการค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ และการละเมิด ซึ่งกฎหมายนี้อาจไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด
'จูเลีย ครูมิแยร์' อาสาสมัครจาก Isala ซึ่งช่วยเหลือผู้ขายบริการทางเพศในเบลเยียม กล่าวว่า “มันอันตราย เพราะทำให้อาชีพที่มีความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติ”
อย่างไรก็ตาม 'เมล' ผู้ขายบริการทางเพศอีกคนรู้สึกว่า กฎหมายนี้ช่วยให้เธอปฏิเสธลูกค้าหรือกิจกรรมทางเพศใดๆ ที่เธอรู้สึกไม่สบายใจได้ "ฉันอาจชี้นิ้วไปที่นายจ้างแล้วบอกว่า คุณกำลังละเมิดเงื่อนไขเหล่านี้ นี่คือวิธีที่คุณควรปฏิบัติกับฉัน และฉันจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย”
การตัดสินใจของเบลเยียมในการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เป็นผลจากการประท้วงหลายเดือนในปี 2022 ซึ่งเกิดจากการขาดการสนับสนุนจากรัฐระหว่างการระบาดของโควิด
'วิกตอเรีย' หนึ่งในผู้ที่อยู่แถวหน้าการประท้วง เธอเป็นประธานสหภาพคนงานบริการทางเพศแห่งเบลเยียม (UTSOPI) ซึ่งเคยเป็นพนักงานบริการทางเพศมานานถึง 12 ปี สำหรับเธอแล้ว มันคือการต่อสู้ส่วนตัว เธอมองว่าการค้าประเวณีเป็นบริการสังคม โดยเซ็กส์เป็นเพียงประมาณ 10% ของสิ่งที่เธอทำ การต่อสู้ครั้งนี้ไม่เพียงเพื่อสิทธิแรงงาน แต่ยังเพื่อความปลอดภัย
เธอเล่าว่าครั้งหนึ่ง เธอเคยถูกข่มขืนโดยลูกค้า และเมื่อเธอแจ้งความตำรวจกลับทำให้เธอรู้สึกผิด “พวกเขาบอกว่าโสเภณีถูกข่มขืนไม่ได้” เธอเชื่อว่ากฎหมายใหม่นี้จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ค้าบริการทางเพศ
ในขณะที่บางคนเชื่อว่ากฎหมายนี้ไม่สามารถทำให้อาชีพนี้ปลอดภัยได้ทั้งหมด แต่เมลมั่นใจว่า การนำธุรกิจนี้ออกจากเงามืดจะช่วยเหลือผู้หญิงได้มากขึ้น “ฉันภูมิใจที่เบลเยียมก้าวหน้าไปขนาดนี้ ตอนนี้ฉันมีอนาคตแล้ว” เธอกล่าว
ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ของเบลเยียมนี้ ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย แต่สำหรับผู้ขายบริการทางเพศหลายคน นี่เป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้ทำงานอย่างปลอดภัยและได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง