ต่างประเทศ
อาหารแห่งอนาคต ! 'งูเหลือม' แหล่งโปรตีนใหม่ โตไว ต้นทุนต่ำ เพื่อความยั่งยืนใน 'ภาวะโลกรวน'
โดย nut_p
1 เม.ย. 2567
299 views
อาหารแห่งอนาคต! นักวิจัยชี้ 'งูเหลือม' เป็นแหล่งโปรตีนชนิดใหม่ สามารถเลี้ยงในฟาร์ม โตไว ต้นทุนต่ำกว่าปศุสตว์ทั่วไป เพื่อความยั่งยืนใน 'ภาวะโลกรวน'
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในรายงานทางวิทยาศาสตร์ พบว่า 'เนื้องูเหลือม' ที่เลี้ยงในฟาร์มอาจเป็นทางเลือกแทนเนื้อสัตว์ทั่วไปที่บริโภคกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากแหล่งอาหารถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การศึกษาวิเคราะห์อัตราการเจริญเติบโตของ 'งูเหลือมลายตาข่าย' และ 'งูเหลือมพม่า' ที่ฟาร์มในประเทศไทยและเวียดนาม พบว่าพวกมันเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 1 ปี แม้ว่าพวกมันจะไม่ได้กินมากเท่ากับสัตว์ชนิดอื่นที่เลี้ยงเพื่อเป็นเนื้อสัตว์ก็ตาม
เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อการเกษตรกรรมทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงกังวลว่า โลกอาจจำเป็นต้องเริ่มเปลี่ยนมาใช้โปรตีนที่ยั่งยืนมากขึ้น และสัตว์เลือดเย็น เช่น งู ก็ประหยัดพลังงานมากกว่าสัตว์เลือดอุ่น เช่น วัว ควาย
“โรค ความผันผวนของทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดความยั่งยืน ฯลฯ ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวของระบบเกษตรกรรมในปัจจุบันของเรา” Daniel Natusch นักวิจัยร่วมกล่าว
“เราจำเป็นต้องมีอาหาร และโปรตีนคุณภาพสูงเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด 'งูเหลือม' มีคุณสมบัติหลายอย่างที่ช่วยให้เราเผชิญและบรรเทาความท้าทายเหล่านั้น” Natusch กล่าว
แม้ว่าบางพื้นที่จะมีการบริโภคเนื้องูอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียที่กินเนื้องูเป็นอาหารแบบดั้งเดิม แต่อุตสาหกรรมการเกษตรยังคงมีขนาดเล็ก
“ผู้คนหลายพันล้านทั่วโลกนับงูแหล่งอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่เป็นที่ยอมรับทางวัฒนธรรมแล้ว มีเพียงประเทศตะวันตกเท่านั้นที่ยังไม่ยอมรับ ดังนั้นหลาย ๆ คนจึงไม่มีปัญหาอะไร สำหรับคนอื่น ๆ ต้องลองดู บางคนอาจจะชอบ บางคนอาจจะไม่ชอบ เช่นเดียวกับอาหารอื่น ๆ แต่หากคนเหล่านั้นจริงจังกับการทำให้โลกยั่งยืนมากขึ้น พวกเขาควรพิจารณาการบริโภคเนื้องูเหลือม แทนเนื้อวัวหรือเนื้อไก่” Natusch กล่าว
นักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างงูเหลือม 4,601 ตัว พวกมันได้รับอาหารจากเหยื่อหลากหลายชนิด เช่น สัตว์ฟันแทะ และปลาป่นทุกสัปดาห์ และตรวจวัดเป็นประจำตลอด 1 ปี จากนั้นมันก็จะถูกเชือดโดยมนุษย์ พวกมันโตโดยเฉลี่ยสูงถึง 46 กรัมต่อวัน นักวิจัยพบว่าตัวเมียจะโตเร็วกว่าตัวผู้
ต่อมาพวกเขาพบว่าทุก ๆ 4.1 กรัมของอาหารที่งูกินไป จะได้เนื้องูเหลือม 1 กรัม แม้แต่งูเหลือมที่ไม่กินอะไรเลยเป็นเวลา 20 ถึง 127 วัน น้ำหนักก็ลดลงน้อยมาก การค้นพบทั้งหมดนี้ ชี้ว่าเนื้องูเหลือมเป็นทางเลือกอาหารที่ยั่งยืนมาก
ในความเป็นจริง Natusch กล่าวว่าโลกนี้ "มาถึงจุดนั้นแล้ว" ซึ่งเราจำเป็นต้องพิจารณาตัวเลือกอาหารทางเลือกเหล่านี้ และขั้นตอนต่อไปคือ ศึกษาดูว่าเราจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงงูเหลือมได้หรือไม่ และวิจัยเพิ่มเติมว่างูเหลือมสามารถเลี้ยงด้วยอาหารที่มีโปรตีนจากพืชได้หรือไม่
อ้างอิง : www.newsweek.com