DSI แถลงรับคดี 'ดิไอคอน' เป็นคดีพิเศษ ชี้ความเสียหายมูลค่าเกิน 300 ล้านบาท

DSI แถลงข่าวรับคดีดิ ไอคอน เป็นคดีพิเศษแล้ว แต่ทำเฉพาะมูลฐาน 'ฟอกเงิน'


เวลาประมาณ14.00 น. ที่ผ่านมา DSI แถลงข่าวรับคดีดิ ไอคอน เป็นคดีพิเศษแล้ว แต่ทำเฉพาะมูลฐาน 'ฟอกเงิน' เพราะความเสียหายมีมูลค่าเกิน 300 ล้านบาท


การแถลงข่าวครั้งนี้มี พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า DSI รับคดีThe Icon Group เป็นคดีพิเศษ เพราะพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดี 18 ผู้ต้องหา ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นข้อหามูลฐานที่นำมาสู่ความผิดฐานฟอกเงินได้ ซึ่งคดีฟอกเงิน อยู่ท้ายบัญชีที่สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ 2. พบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และความเสียหายมีมูลค่าเกิน 300 ล้านบาทขึ้นไป


คดีนี้ได้มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ แต่ DSI รับเฉพาะ "คดีฟอกเงิน" เท่านั้น ส่วนข้อหาอื่น ๆ เช่น ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ยังอยู่ในอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะโอนข้อหาฉ้อโกงประชาชนมาอยู่ภายใต้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี ยุทธนา กล่าวว่า คดีข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนไม่อยู่ในท้ายบัญชีคดีพิเศษตามกฎหมาย แต่ถ้าหากเป็นคดีแชร์ลูกโซ่หรือกู้ยืมในลักษณะฉ้อโกงประชาชน คดีนี้ก็จะเป็นคดีพิเศษได้ แต่จากข้อมูลที่มียังไม่พบว่าคดี The Icon Group เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่


ดังนั้นหลังจากนี้จะสืบสวนสอบสวนต่อไปถึงเส้นทางการเงิน รวมทั้งที่มาของทรัพย์สินต่างๆที่ทั้ง DSI และตำรวจตรวจยึดมาได้ เพราะเชื่อว่ากลุ่มผู้กระทำความผิด ได้นำทรัพย์สินที่ได้จากการหลอกลวงผู้เสียหาย ไปซื้อทรัพย์สิน ของตัวเอง ถือเป็นการแปลงสภาพทรัพย์สิน หากรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างชัดเจนและแน่นหนาเพียงพอ ก็จะนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำความผิดคดีฟอกเงินต่อไป และอาจจะมีผู้ต้องหาแถวที่ 2 หรือแถวที่ 3 ซึ่งจะต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีรายการทรัพย์สินหมุนเวียนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 100-1,000 ล้านบาท


สำหรับกรณีข้อครหาที่ว่า การตรวจยึดนาฬิกาที่ได้จากห้องพักในรามอินทราซอย 9 เป็นนาฬิกาปลอม พันตำรวจตรี ยุทธนา ชี้แจงว่า เนื่องจากทาง DSI ไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือของปลอม DSI ก็ต้องตรวจยึดอายัดเอาไว้ก่อน หากพบว่าเป็นของจริงถือว่าเป็นของมีมูลค่า ก็จะให้ทาง ปปง. ไปประเมินราคาต่อไปว่า จะสามารถนำมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชดเชยแก่ผู้เสียหายได้หรือไม่ แต่หากพบว่าเป็นนาฬิกาปลอม ก็ถือเป็นประเด็นที่ต้องคิดต่อไปว่า กลุ่มผู้กระทำความผิดจะมีนาฬิกาปลอมเอาไว้ทำไม หรือมีเอาไว้หลอกโฆษณาชวนเชื่อแก่ผู้เสียหายว่า ประสบความสำเร็จ อาจคิดต่อไปได้ว่า เป็นการเจตนายักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่หรือไม่


และทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้ ต้องส่งมาที่ ปปง. เพื่อตรวจยึดเป็นของแผ่นดิน และนำไปสู่การขายทอดตลาดนำเงินมาชดเชยคืนแก่ผู้เสียหาย ขอให้มองว่าการทำงานของ 2 หน่วยงานนั้นเป็นลักษณะของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ทำให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำงานหนักจนเกินไป และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนกับผู้เสียหายมากที่สุด



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/fpS2UAGvbko

โดย parichat_p

24 ต.ค. 2567

62 views

EP อื่นๆ