สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.มหาสารคาม แจงดรามาผลการประกวด “มาสคอต” ค้านสายตา

กลายเป็นประเด็นดรามา ภายหลังจากที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมหาสารคาม ประกาศผลการตัดสินการประกวดออกแบบมาสคอตจังหวัดมหาสารคาม ผู้ชนะจะได้เงินรางวัล 30,000 บาท โดยมีการเปิดให้ประชาชนร่วมกันโหวต คัดเลือกผู้เข้ารอบ 5 คน และนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการเพื่อตัดสินหาผู้ชนะเลิศ



ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล คือ ผลงาน “น้องปูกลอง” ซึ่งได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การออกแบบไม่สากล ไม่ทันสมัย พร้อมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการตัดสินของคณะกรรมการ โดยชาวโซเชียลยังได้แชร์ผลงานการออกแบบของ “น้องจำปาแป้ง” ซึ่งเป็น 1 ในงานที่ผ่านการเข้ารอบ 1 ใน 5 ผลงาน



ซึ่งเจ้าของผลงาน ได้โพสต์ถึงผลงานตนเองว่า ได้เข้าท็อป 5 ก็ถือว่าเกินฝันแล้ว ซึ่งก็มีคนเข้าไปคอมเมนต์ชื่นชมผลงานการออกแบบจำนวนมาก และภายหลังจากที่เกิดกระแสดรามา ทางเจ้าของผลงาน “น้องจำปาแป้ง” ก็ได้โพสต์ ชี้แจงว่า ไม่ได้โพสต์เพราะโบกรถทัวร์ให้ไปลงใคร ไม่ได้เจตนาอัปงานไปเรียกแขกให้มาดูว่าของชั้นดีกว่า แค่อยากอัปเก็บไว้ดูเฉย ๆ เพราะมีอีกหลายคนที่ไม่ได้เห็นแนวคิดแบบละเอียดของยัยปูอ้วน ทุกผลงานสวยหมด งานศิลปะไม่มีงานไหนไม่สวย มีแค่ถูกใจกับไม่ถูกใจ ตลาดคนละกลุ่มกัน รสนิยมต่างกัน



ทุกคนตั้งใจหมด น้องคนชนะก็ทำเต็มที่มาก ๆ วันพรีเซนต์นั่งข้าง ๆ กันเลย เส้นสายมีมั้ยไม่รู้ มันเป็นเรื่องหลังบ้าน แต่ความพยายาม น้องมีค่ะ เราสัมผัสได้ ไม่อยากให้ไปเบลมผลงานหรือตัวน้อง น้องพึ่งอยู่ปี 1 เอง ถ้าจะตั้งคำถาม ก็ตั้งคำถามกับระบบการประเมินดีกว่า ซึ่งเขาก็คงมีเกณฑ์การตัดสินของเขา ที่ผู้เข้าร่วมก็ต้องยอมรับให้ได้ ผิดหวังเสียใจก็มูฟออนไปต่อ แต่ผลงานตัดสินของกรรมการก็ถือเป็นที่สิ้นสุด เอ็นดู ไม่เอ็นดูยังไงผลก็ออกมาแล้ว อยากสนับสนุนให้ใช้คำพูดที่ใจดีต่อกันดีกว่านะคะ จะได่วยกันผลคนทำงานศิลปะออกสู่สังคมให้มีคุณภาพกันแบบจิตใจไม่บอบช้ำมากจนเกินไป



แล้วก็ขอบคุณคนที่มอบความรักและเอ็นดูยัยน้องจำปาแป้งเยอะขนาดนี้ คนออกแบบก็มีกำลังใจพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้นไปอีก จะเอาทุกคอมเมนต์ทั้งชื่นชมและแนะนำ ไปปรับแก้ไข จะทำงานให้หนักขึ้นเพื่อสร้างความสดใสส่งต่อความรักให้โลกนี้ต่อไปค่ะ



โดยวันนี้ (5 มกราคม 68) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมหาสารคาม โดย นายการเอก สำราญชลารักษ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากที่มีกระแสความเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่องผลการประกวดออกแบบมาสคอต ประจำจังหวัดมหาสารคามนั้น ขอเรียนว่า ประการแรกในเรื่องของกระบวนการประกวด



จังหวัดมหาสารคามได้ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนสถาบันการศึกษาและบุคคลทั่วไป จากทั่วประเทศส่งผลงานมาสคอตเข้าประกวด แจ้งไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 117 แห่ง มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 80 ผลงาน โดยเป็นผู้ส่งผลงานในจังหวัด 52 ราย ต่างจังหวัด 28 ราย



ประการที่สอง หลักเกณฑ์เงื่อนไขของการประกวด เน้นในเรื่องของการออกแบบที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของจังหวัดมหาสารคาม มีความเป็นสากล ง่ายต่อการจดจำต่อการเป็นจังหวัดมหาสารคาม มองแล้วรู้ว่าเป็นมหาสารคาม



ประการที่สาม เกณฑ์การตัดสินผลงาน มี 2 รอบ



รอบที่ 1 ให้มีการโหวตมาสคอต ทั้ง 80 ผลงาน ทาง google form ระหว่างวันที่ 12 – 22 ธันวาคม 2567 รวม 17 วัน ซึ่งมีผู้โหวตทั้งสิ้น 2,141 คน และผลงานที่มียอดโหวตสูงสุดอันดับ 1 – 5 ผ่านเข้ารอบตัดสิน



โดยที่ ทั้ง 5 ผลงาน นั้น เป็นของนักศึกษาจังหวัดมหาสารคาม 2 ราย และอีก 3 ราย เป็นนักศึกษาสถาบันในจังหวัดอื่น



ส่วนการตัดสินผลงานรอบที่ 2 จังหวัดมหาสารคาม มีการเชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมต่าง ๆ มาร่วมโหวต โดยให้เจ้าของผลงานนำเสนอคลิปผลงานหรือนำเสนอด้วยตนเอง



โดยครั้งที่ 1 ในการประชุมคณะกรมการจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งที่ประชุมประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อธิการบดีสถาบันการศึกษา ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ประธานกรรมการธรรมภิบาลจังหวัดมหาสารคาม และผู้แทนภาคเอกชนที่สำคัญ



สำหรับครั้งที่ 2 ได้มีการโหวตโดยภาคเอกชน อาทิ หอการค้า กลุ่ม YEC สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชมรมกีฬา คณะครู บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้ง นักเรียน นักศึกษา โดยมาโหวตกันที่วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม



สาเหตุที่จัดสถานที่ดังกล่าว เนื่องจาก 2 ใน 5 ราย เป็นชาวจังหวัดมหาสารคาม กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม หากจัดในสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ก็จะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน จึงใช้สถานที่ของสถาบันการศึกษาที่เป็นกลางในการดำเนินการโหวต



ผลงานที่ได้รับการโหวตสูงสุดนั้น ถ้าพิจารณาในภาพรวมทั้ง 5 ผลงานที่เข้ารอบ ทั้งหมดสื่อในเรื่องอัตลักษณ์มหาสารคาม แต่ที่ได้รับการโหวตจากผู้เข้าร่วมโหวตทั้ง 205 คน อาจเนื่องจาก ผู้โหวตเห็นว่า ผลงานดังกล่าว ง่ายต่อการจดจำในฐานะความเป็นจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งปูทูลกระหม่อม เป็น 1 ในเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม ที่ผู้คนรู้จัก และกลองยาวก็เป็น 1 ในงานประเพณีประจำจังหวัดมหาสารคามที่มีชื่อเสียง



สำหรับการที่ผลงานที่ชนะเลิศนี้ มีลักษณะคล้ายกับสัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาที่ผ่านมา ขอเรียนว่า ได้ตรวจสอบแล้ว ไม่ได้เป็นการก๊อบปี้ผลงาน แต่ด้วยลักษณะของโครงสร้างที่นำปู มาออกแบบ และใช้สี เป็นสัญลักษณ์ของปูทูลกระหม่อมอยู่แล้ว จึงขอเรียนยืนยันว่า ผลงานที่ชนะการประกวดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ทุกประการ



ทั้งนี้ แนวคิดของมาสคอต น้องปูกลอง คือทุกองค์ประกอบของน้องเต็มไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง ตัวของน้องปูเป็นตัวแทนของปูทูลกระหม่อม สัตว์ประจำท้องถิ่นของจังหวัดมหาสารคาม ที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและยังเป็นสัญลักษณ์ของการรักษาสมดุล ของระบบนิเวศน์ในท้องถิ่น



กลองยาว สื่อถึง เสียงแห่งศิลปะการแสดงประเพณีและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น



ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก เป็นผลงานภูมิปัญญาชาวมหาสารคามที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ และยังสะท้อนถึงความประณีตงดงามในท้องถิ่น



ผ้าขาวม้า ที่น้องสวมใส่คือสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ความเป็นไทย และแสดงถึงความอบอุ่น ความเป็นมิตรชองชาวบ้านในชุมชน น้องปูกลองทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติและความเป็นไทย น้องจะช่วยสื่อสารและส่งต่อคุณค่าของชาวมหาสารคาม ให้คนรุ่นใหม่เกิดความภาคภูมิใจในจังหวัดของตน



ส่วนแนวคิดของน้องจำปาแป้ง ตัวแทนแห่งความสดใสและเยาว์วัย มีที่มาจากสีคีย์เวิรด์หลัก คือ ดอกจำปาขาว ปูแป้ง เมืองแห่งการศึกษา และลายสร้อยดอกหมาก ออกแบบภายใต้แนวคิด ถิ่นฐานอารยธรรม นำเสนอความมีชีวิตชีวา ความบริสุทธิ์นุ่มนวล และความหลากหลายทางวัฒนธรรม แรงบันดาลใจ การเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม นำสีขาวมาเป็นตัวแทนของสิ่งนามธรรม อย่างความเชื่อ ศาสนา การศึกษา และการเรียนรู้



ดอกจำปาขาว โดยใช้รูปทรงของดอกจำปาขาวมาทำเป็นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ



ปูแป้ง หรือปูทูลกระหม่อม โดยนำรูปทรงของปูแป้งมาลดทอนองค์ประกอบให้เหมือนกันตัวการ์ตูนมีความน่ารักสดใส



ลายสร้อยดอกหมาย ซึ่งเป็นลายผ้าประจำจังหวัดมาใช้เป็นลวดลายบนตัวมาสคอต เชิดชูความเป็นอีสานตัวผ้าเบี่ยง หรือผ้าพาดไหล่ลายผ้าขาวม้าสีเหลือง ใบไม้สีเขียวได้แรงบันดาลใจมาจากต้นไม้ที่อยู่ในธงประจำจังหวัดมหาสารคาม



สีที่ใช้เน้นสีพาสเทล ที่ให้ความสดใสร่าเริง เพื่อให้ดูเป็นมิตรไม่จัดจ้าน สีขาวมาจากสีของนักศึกษา สีของพระธาตุนาดูน และสีของดอกจำปาขาว สีเหลือง คือสีประจำจังหวัด และสีของผ้าห่มองค์พระธาตุนาดูน สีเขียว มาจาก สีของต้นไม้ใหญ่ในธงประจำจังหวัดมหาสารคาม และสีชมพู ฟ้า ส้ม เป็นสีที่ได้จากปูแป้ง ซึ่งเดิมทีคือสีแดงน้ำเงินส้ม เพื่อทำให้มาสคอตดูเป็นมิตร ไม่รู้สึกอันตราย

โดย paranee_s

5 ม.ค. 2568

784 views

EP อื่นๆ