"เกาหลีใต้" กลายเป็น "สังคมสูงอายุระดับสุดยอด" แล้ว

สำนักข่าว CNN รานงานว่า ข้อมูลอย่างเป็นทางการเผยว่า เกาหลีใต้ได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยมีผู้สูงอายุ 1 ใน 5 คนอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเน้นย้ำถึงวิกฤตประชากรของประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น



โดยกระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัยเผยแพร่จำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 10.24 ล้านคน คิดเป็น 20 % ของประชากรเกาหลีใต้ทั้งหมด 51 ล้านคน ขณะที่องค์การสหประชาชาติจัดประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7 ให้เป็น “สังคมกำลังสูงอายุ” (aging society) ประเทศที่มีประชากรอายุมากกว่าร้อยละ 14 ให้เป็น “สังคมสูงอายุ” (aged society) และประเทศที่มีประชากรอายุมากกว่าร้อยละ 20 ให้เป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” (super-aged society)



ซึ่งเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับอัตราการเกิดที่ต่ำอย่างหนัก โดยลดลงเหลือเพียง 0.72 ในปี 2566 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในโลก หลังจากที่ลดลงมาหลายปี ซึ่งประเทศต่างๆ ต้องมีอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 2.1 เพื่อรักษาจำนวนประชากรที่มั่นคง หากไม่มีผู้อพยพเข้ามา



จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงมหาดไทยระบุว่า ผู้หญิงในเกาหลีใต้ราว 22% มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ขณะที่สัดส่วนผู้ชายที่อายุมากกว่านั้นอยู่ที่เกือบ 18% ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเน้นย้ำถึงระเบิดเวลาด้านประชากรที่เกาหลีใต้และประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกต้องเผชิญ



ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้เผยประชากรอาจลดลงเหลือระดับเดียวกับช่วงทศวรรษ 1970 ทางการเกาหลีใต้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวโน้มประชากรของประเทศ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ประธานาธิบดียุน ซอก ยอล เรียกร้องให้รัฐสภาช่วยเหลือในการจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อแก้ไขสิ่งที่เขาเรียกว่า "ภาวะฉุกเฉินระดับชาติ"



ขณะที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปหลายแห่งเผชิญกับปัญหาประชากรสูงอายุเช่นกัน แต่การอพยพเข้าเมืองช่วยบรรเทาผลกระทบได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน หลีกเลี่ยงปัญหาการอพยพเข้าเมืองจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาการลดลงของประชากรในวัยทำงาน



ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ทั่วเอเชีย ได้แก่ วัฒนธรรมการทำงานที่มีความต้องการสูง ค่าจ้างที่หยุดนิ่ง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทัศนคติที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับการแต่งงานและความเท่าเทียมทางเพศ และความผิดหวังที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้จะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผล แต่การทุ่มเงินเพื่อแก้ปัญหาก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล



ในปี 2022 ทางการเกาหลีใต้ยอมรับว่า ได้มีการใช้เงิน มากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในการพยายามเพิ่มจำนวนประชากรในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา แต่ความคิดริเริ่มต่างๆ เช่น การขยายเวลาการลาคลอดบุตรแบบมีเงินเดือน การให้เงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิด และแคมเปญทางสังคมที่สนับสนุนให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตรและทำงานบ้าน ไม่สามารถพลิกกลับแนวโน้มดังกล่าวได้

โดย paranee_s

25 ธ.ค. 2567

114 views

EP อื่นๆ