บอร์ดอีวีเคาะมาตรการลดภาษีหนุน HEV - รบ.เดินหน้านโยบายเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าลงทุน 5 ปี 5 แสนล้าน

นายกฯ อิ๊งค์ ประชุมบอร์ดอีวี เคาะมาตรการลดภาษีหนุนรถยนต์ไฮบริด HEV – MHEV

วานนี้ (วันที่ 4 ธ.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ดอีวี กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดอีวี ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการ 2 เรื่องสำคัญ คือ

1. มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับผลิตรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV)

2. การขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 โดยให้สามารถโอนไปผลิตชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการ EV3.5 และระงับการให้เงินอุดหนุน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบถ้วน

โดยทั้งสองมาตรการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสมดุลการแข่งขัน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกในทุกประเภทในระยะยาว

สำหรับ มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า บอร์ดอีวี ได้เห็นชอบการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบ HEV และ MHEV ซึ่งผลิตในประเทศ

1. มาตรการสนับสนุนรถยนต์ HEV กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ ตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่ เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2569 – 2575) ตามมติบอร์ดอีวีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 โดยมีอัตราและเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้

1.1 ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 g/km

- การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6

- การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101 – 120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9

1.2 ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในเครือไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567 – 2570

1.3 ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2571 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

- กรณีลงทุนเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท จะต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูงทั้ง 3 ชิ้นเท่านั้น ได้แก่ Traction Motor, Reduction Gear, Inverter

- แต่หากลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถเลือกใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง ร่วมกับกลุ่มมูลค่าปานกลางได้ เช่น BMS, DCU, Regenerative Braking System เป็นต้น

1.4. ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADAS) อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ ดังนี้ ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง, ระบบเตือนการชนด้านหน้า, ระบบดูแลภายในช่องจราจร, ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยนช่องจราจร, ระบบตรวจจับจุดบอด และระบบควบคุมความเร็ว

2. มาตรการสนับสนุนรถยนต์ MHEV ซึ่งเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า โดยมีแรงดันไฟฟ้าในการขับเคลื่อนต่ำกว่า 60 โวลต์ และอาศัยเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเซกเมนต์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตในระดับโลก บอร์ดอีวี ได้กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ ตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่ เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2569 – 2575) โดยมีอัตราและเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้

2.1 ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 g/km

- การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 10

- การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101 – 120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 12

2.2 ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในเครือ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567 – 2569 และไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567 – 2571

2.3 ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Traction Motor หรือชิ้นส่วนที่มีลักษณะการทำงานเพื่อเสริมแรงขับเคลื่อน ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป

2.4 ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADAS) อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ เช่นเดียวกับเงื่อนไขของ HEV

----------------------------

รบ.เดินหน้านโยบายเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง ตั้งเป้าลงทุน 5 ปี 5แสนล้าน

เมื่อวานนี้เวลา 13.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567  โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม , น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์  ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้รายงานว่านักลงทุนติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสดีของประเทศ จึงอยากให้เป็นการดึงดูดนักลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น และคิดว่าน่าจะมีคอนเนคชั่นดีๆ อีกเยอะ และเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพในเรื่องของธุรกิจอนาคตอีกมาก และจากการพูดคุยหลายบริษัททราบว่า คนไทยก็สามารถเพิ่มทักษะได้มากขึ้น และหลายคนสามารถปรับตัวให้เข้ากับอุตสาหกรรมใหม่ๆได้ดี  นอกจากจะมีการลงทุนด้านนึ้เข้ามาแล้ว บวกกับการให้คนไทยเพิ่มทักษะ ขอให้มีความพัฒนาควบคู่กันไป ทั้งอุตสาหกรรมใหม่ๆ และศักยภาพของคนไทย


ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แถลงผลการประชุมภายหลังการประชุม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงรับทราบแผนยุทธศาสตร์ พัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุน ตั้งเป้า ระยะ 5 ปี 2568-2572 ดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับ ไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง


โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง โดยเฉพาะการผลิตชิป เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลก เติบโตอย่างก้าวกระโดด คาดว่ามูลค่าการตลาดจะขึ้นสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030


ขณะเดียวกันที่ประชุมมีมติ 2 เรื่องสำคัญ คือ  จัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติ  โดยให้จัดจ้างที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งในระดับนโยบาย ครอบคลุมถึงระดับปฏิบัติการ จัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนรายสำคัญอย่างน้อย 10 บริษัทชั้นนำระดับโลก ให้เข้ามาลงทุน ออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงในไทย และร่วมมือกับประเทศผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง เพื่อเป็นห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และเพิ่ม ศักยภาพรอบการแข่งขันของประเทศ


ขณะเดียวกันที่ประชุมยังเห็นชอบแผนการพัฒนากำลังคน รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยตั้งเป้า ปี 2573 จะต้องผลิตบุคลากร เฉพาะทางและนักวิจัยระดับสูง 84,900 คน ผ่านโครงการอีพสกิลและรีสกิล รวมถึงหลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่เช่น sandbox และโปรแกรมฝึกงานนานาชาติ จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม 6 แห่งเช่นศูนย์.Wafer Fabrication และศูนย์วิจัยพัฒนา


นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด โดยมีเลขาธิการ BOI เป็นประธาน และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรมเป็นประธาน โดยให้ดูเรื่องการเตรียมหลักสูตรความพร้อมรองรับพัฒนาแรงงาน และเตรียมสถานที่รองรับอุตสาหกรรม ดูเรื่องระบบสาธารณูปโภคและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


นายนฤตม์ ยังกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนกันยายน 2567 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมกว่า 1,213 โครงการ มูลค่าการลงทุน 876,328 ล้านบาท โดยในช่วง 2 ปีหลัง มีการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีนไต้หวัน และญี่ปุ่น



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/LT94EC8KM9g

โดย petchpawee_k

5 ธ.ค. 2567

81 views

EP อื่นๆ