1 พ.ย. 2567
‘มาริษ’ เชื่อหากไทยเข้า OECD ได้ จะปฏิรูปประเทศได้เร็วขึ้น เหตุต้องสร้างมาตรฐานทุกด้านให้เป็นสากล
รมว.ต่างประเทศ เผย TDRI ประเมินผล ศก.โตแน่ 1.6% ปลื้มเลขาฯ OECD มาเยือนเราด้วยตัวเอง ตอกย้ำความพร้อมของว่าไปถึงไหน มั่นใจ จะทำให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ตั้งเป้าเป็นสะพานให้ประเทศ OECD ที่พัฒนาแล้วต้องฟังในสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการ บอก 5-10 ปีหลังจากนี้ จะได้เข้าร่วมหรือไม่อยู่ที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน
วันนี้ (31 ต.ค.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงการที่นายมาทีอัส คอร์มันน์ (Mathias Cormann) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เดินทางมาเยือนไทย เพื่อหารือเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิก OECD ว่า เลขาธิการ OECD ได้เดินทางมาด้วยตัวเอง โดยได้หารือกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ตนขอเรียนว่าการการเยือนของเลขาธิการ OECD มีวัตถุประสงค์ 2-3 อย่าง เป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเป็นการเริ่มเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิก OECD ของไทย โอกาสนี้ เลขาธิการ OECD ได้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งเป็นภาคเอกชนด้วย และถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มกระบวนการกับภาคราชการของไทย
“ท่านได้รับทราบว่าความพร้อมของประเทศไทยไปถึงไหน มีข้อจำกัดอย่างไรในการที่จะเข้าร่วมกระบวนการของการเป็นสมาชิก ทำให้ OECD ได้มาเห็น ได้รับทราบ ทุกภาคส่วนของไทยก็ได้รับทราบว่าเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และมีผลดี ผลกระทบอย่างไร” นายมาริษ กล่าว
นายมาริษ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีและตนได้ย้ำว่าเราต้องการเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ซึ่งผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับในครั้งนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้มีการคำนวณว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตของเราเติบโตขึ้นถึง 1.6% เนื่องจากเราจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งก้าวข้ามรายได้ปานกลาง เนื่องจากประเทศไทยต้องปฏิรูปทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
“ถามว่าเราปฏิรูปอยู่หรือไม่ เราก็ปฏิรูปอยู่ แต่บางครั้งเราจำเป็นต้องมีมาตรฐานเป็นตัวชี้วัด ว่าการปฏิรูปของประเทศก้าวไปสู่การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางหรือยัง การเข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้ประเทศไทยมีมาตรฐานที่ชัดเจนและโปร่งใส กฎระเบียบทั้งหลายที่ทำให้เราเข้าเป็นสมาชิกภาคีกับเขา จะทำให้เรายกระดับทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทุกอย่างต้องโปร่งใสหมด” นายมาริษ กล่าว
นายมาริษ ยังกล่าวว่า OECD ก็มองเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของประเทศไทย จึงเป็นที่มาของเหตุผลที่ OECD ต้องการให้ประเทศไทยเข้าเป็นประเทศสมาชิก ในอดีตหลายคนพูดถึงกลุ่มประเทศ OECD ว่าเป็น Rich Men Club หรือคลับของคนรวย หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่หลังจากที่ OECD พัฒนาไปเรื่อยๆ ก็ได้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว การที่จะทำให้โลกทั้งใบอยู่ในมาตรฐานสากลเป็นสิ่งสำคัญ จึงขยายกรอบให้ครอบคลุมถึงประเทศกำลังพัฒนา
“ประเทศไทยต้องการมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนให้ประเทศที่กำลังพัฒนามีสิทธิ์มีเสียงที่จะกำหนดทิศทางของโลก รวมทั้งการที่จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น การที่ OECD กำลังขยายไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา สอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย ที่ต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิ์มีเสียง ในการเข้ามาในธุรกิจการค้าอย่างเป็นธรรม และมีความโปร่งใสมากขึ้น” นายมาริษ กล่าว
นายมาริษ ย้ำถึงจุดแข็งของประเทศไทยว่าเราสามารถพูดให้เขาเห็นและทำเอาคุณค่าที่สำคัญ ได้แก่ มาตรฐานของ OECD ไปช่วยโปรโมต เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้เห็นความสำคัญ และเข้ามาร่วมในการทำให้ประเทศมีมาตรฐานสากลมากขึ้น OECD ก็จะได้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนามีคุณค่าในมิติด้านต่างๆ เราจะทำให้ OECD ต้องฟังในสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการ ทั้งนี้ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ต้องการเห็นประเทศไทยเข้าไปอยู่ในจอเรดาร์มากขึ้นด้วย
จากนั้น นายมาริษ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า การเข้าเป็นสมาชิก OECD สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่คนละขั้วอำนาจได้ทันที เรามองความร่วมมือในกรอบของการพัฒนา ไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มทางการเมือง เป้าหมายของประเทศไทยคือพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ไม่ได้ให้เกิดการแตกแยก
เมื่อถามว่าในกรอบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สิ่งที่เป็นเงื่อนไขในการเตรียมความพร้อมที่ยากที่สุดคืออะไร นายมาริษ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ได้มีความยากลำบาก เพราะต่อให้ไม่มี OECD ตนคิดว่าประเทศไทยก็ขับเคลื่อนไปสู่การเป็นมืออาชีพ มาตรฐานที่สูงขึ้นอยู่แล้ว เราต้องพัฒนาตัวเรา เพื่อปฏิรูปประเทศให้มีความอยู่ดีกินดีมากขึ้น แต่การที่เราเป็นสมาชิก OECD สามารถทำให้เราเร่งรัดกระบวนการเหล่านี้
“ผมคิดว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทยต้องการที่จะปฏิรูปอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีคนมาช่วยทำให้ปฏิรูปได้เร็วขึ้น สมบูรณ์ เป็นที่ต้องการมีมาตรฐานสากล เพราะฉะนั้น ผมเห็นถึงประโยชน์ที่สำคัญของการเข้าเป็นสมาชิก OECD” นายมาริษ กล่าว
ส่วนเป้าหมายของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเข้าเป็นสมาชิก OECD ภายใน 5 ปีเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน กระทรวงการต่างประเทศสามารถเร่งรัดการเตรียมความพร้อมภายในประเทศไทยอย่างไร นายมาริษ กล่าวว่า ก็ต้องพูดคุยกัน กระทรวงต่างประเทศดูเรื่องนโยบาย ตนก็กำชับทางกระทรวงไปให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การที่เราจะเข้าร่วมได้ 5-10 ปี ก็เป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราเข้าไปช่วยเติมเต็มในส่วนที่เขาขาด แน่นอนว่าเราเข้าไปมีส่วนช่วยเพื่อให้เกิดได้เร็วที่สุด แต่ถ้าเกิดช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกหน่วยราชการและทุกภาคส่วน
โดย olan_l
31 ต.ค. 2567
32 views
EP อื่นๆ
1 พ.ย. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567