ป.ป.ท. ลุยตรวจทุจริตใน มทร.ธัญบุรี หลังพบมีมูล หลายโครงการพิรุธ ใช้งบแต่ไม่ดำเนินการ

ต้นเดือนกันยายนข่าว 3 มิติ เคยนำเสนอการร้องเรียนหลายโครงการในมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งพบความผิดปกติว่าอาจมีการทุจริตการใช้งบประมาณเกิดขึ้น จนสภามหาวิทยาลัยสั่งตั้งคณะกรรมกาสอบสวนและพบว่าหลายโครงการมีข้อพิรุธจริง แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการดำเนินการต่อหลักฐานต่างๆ จึงถูกส่งมาร้องเรียนกับสื่อมวลชน และหน่วยงานภายนอกเช่น ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ให้ช่วยตรวจสอบในหลายประเด็น โดยเฉพาะโครงการที่มีผู้บริหารของมหาวิทยาลัยบางรายเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ล่าสุดเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เขต 1 ลงพื้นที่ตรวจสอบในบางประเด็นแล้ว และรวบรวมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมไปดำเนินการต่อ



โรงผลิตน้ำดื่มของบริษัท ซี.เจ. เพียวริตี้ เป็นจุดแรกที่เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. เขต 1 เข้าตรวจสอบ



ตามข้อร้องเรียนว่าพบความผิดปกติในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ผลทดสอบน้ำดื่ม มาตรฐานเครื่องผลิตน้ำดื่ม และการขอหนังสือรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.



เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้เพียงภายนอกของโรงผลิตน้ำ เช่นเครื่องจักรและสินค้า ซึ่งไม่พบความผิดปกติ โดยเฉพาะเลข อย. ที่ถูกร้องเรียนก็พบว่าขณะนี้ผ่านการรับรองแล้ว ส่วนประเด็นเรื่องขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างต้องตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดอีกครั้ง



เจ้าของโรงผลิตน้ำดื่มยืนยันว่าบริษัทผ่านกระบวนการเสนอราคามาอย่างถูกต้อง แม้ก่อนหน้านี้จะมีปัญกาเรื่องการรับรองของ อย. ตั้งแต่ต้นปี 2566 แต่เป็นเพียงความล่าช้าของขั้นตอนเท่านั้น และพร้อมให้ ป.ป.ท. ตรวจสอบทั้งหมด



ในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัย ระบุว่าการเสนอราคาหาผู้ผลิตน้ำดื่มไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น



- ผลการทดสอบน้ำดื่มเป็นของบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ชนะการประมูล

- ไม่มีหนังสือรับรองมาตรฐานของเครื่องผลิตน้ำดื่ม

- ไม่มีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในการติดตั้งเครื่องจักร

- ต้องส่งแผนดำเนินงานปรับปรุงพื้นที่ ภายในวันที่ยื่นซองประกวดราคา แต่กลับยื่นหลังจากชนะการประมูลแล้ว



ส่วนโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มูลค่ากว่า 230 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และก่อนหน้านี้ถูกร้องเรียน 3 ประเด็น คือทำข้อตกลงการให้บริการแทนบันทึกความร่วมมือ ไม่ดำเนินการตาม พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง และไม่ขออนุญาตจาก กกพ.ตามระเบียบ



ตัวแทนมหาวิทยาลัยชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ว่าโครงการนี้ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น เพราะยังไม่เริ่มดำเนินงานจริง ส่วนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เห็นในมหาวิทาลัยเป็นทรัพย์สินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ฝากไว้เท่านั้น



ผู้อำนวยการ ป.ป.ท.เขต 1 ย้ำว่าข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นเพียงการชี้แจงเบื้องต้นจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเท่านั้น เจ้าหน้าที่ต้องขอเอกสารหลักฐานของทุกโครงการไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริงหรือไม่



นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากเกือบ 10 โครงการที่ถูกร้องเรียนว่าพบความผิดปกติในมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนหนึ่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีผลสรุปแล้ว เช่น



1. ทุจริตการจัดทำเหรียญพระทองคำ

2. การเรียกรับผลประโยชน์จากร้านสะดวกซัก

3. การล็อกสเปคจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์หอพักนักศึกษา

4. การเดินทางไปทำ MOU ที่ประเทศอินโดนีเซีย

5. กรณีการคุกคามทางเพศของผู้บริหาร

6. การใช้รถราชการอย่างผิดระเบียบ

7. การทำสัญญาสถานีวิทยุกับบริษัทเอกชน

8. การเบิกจ่ายเงินค่าอบรมเป็นเท็จ



ล่าสุดนายวิชา จุ้ยชุม กรรมการสภามหาวิทยาลัย ถูกตั้งกรรมการสอบสวน ระบุว่าแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือฝ่าฝืนจริยธรรม ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง จากกรณีให้ข้อมูลเรื่องการทุจริตกับข่าว 3 มิติ โดยคณะกรรมการไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อมูลใดๆ



ความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้คณาจารย์กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันส่งหลักฐานและร้องเรียนให้หน่วยงานภายนอก เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท และ สตง. เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงกลุ่มหนึ่ง ที่ร่วมกันหาผลประโยชน์จากมหาวิทยาลัยมาตลอด

โดย panwilai_c

16 ต.ค. 2567

979 views

EP อื่นๆ