สิ่งแวดล้อม

แล้งนี้ยังอีกยาว เพิ่งหมดฝน แต่ไทยต้องเผชิญภัยแล้ง

โดย paweena_c

30 ต.ค. 2566

121 views

ปี 2566 ฤดูฝนของประเทศไทย มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด , ยโสธร , อุบลราชธานี , อำนาจเจริญ , ศรีสะเกษ และสุรินทร์

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปริมาณฝนสะสม และปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริงในเขื่อน รวมถึงจำนวนพายุที่เข้าประเทศไทย ตลอดจนปรากฏการณ์เอลนีโญ สัญญาณต่าง ๆ เหล่านี้อาจกำลังเตือนว่า ปลายปีนี้ และช่วงต้นปีถัดไป ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับภัยแล้ง

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า “ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งช้ากว่าปกติประมาณ 1 สัปดาห์ และคาดว่าจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2566 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5 ตลอดทั้งช่วงฤดูฝน และจะน้อยกว่าปีที่แล้ว”

4 กรกฎาคม 2566 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) ประกาศว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ การประกาศเตือนดังกล่าว ถือเป็นสัญญาณให้รัฐบาลทั่วโลก เตรียมมาตรการรับมือ เพื่อจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งต่อสุขภาพ ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ


ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) คืออะไร?
กรมอุตุนิยมวิทยาให้คำจำกัดความว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติทางสมุทรศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อภูมิอากาศของโลกอย่างรุนแรง

ปรากฏการณ์เอลนีโญ มีปรากฏการณ์ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นขั้วตรงข้าม คือ เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในทางตรงกันข้ามกัน เรียกว่าปรากฏการณ์ลานีญา

เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) เป็นคำในภาษาสเปน แปลว่าเด็กชาย และเด็กหญิงตามลำดับ

ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะก่อให้เกิดฝนตกหนักและดินถล่มอย่างรุนแรง ในทวีปอเมริกาใต้ แต่จะก่อให้เกิดความแห้งแล้งและอากาศร้อน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในออสเตรเลีย

ส่วนปรากฏการณ์ลานีญา จะก่อให้เกิดความแห้งแล้งและอากาศร้อน ในทวีปอเมริกาใต้ แต่จะก่อให้เกิดฝนตกหนักและดินถล่มอย่างรุนแรง  ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในออสเตรเลีย

สรุปง่าย ๆ ก็คือ หากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ประเทศไทยก็จะร้อน ฝนแล้ง ซึ่งทำให้น้ำน้อย และหากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ประเทศไทยก็จะมีฝนตกหนัก ซึ่งทำให้น้ำท่วม

สำหรับปี 2566 จนถึงปี 2567 ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ


ปีนี้ฝนตกมากหรือน้อย ?
อ้างอิงจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ค่าปกติ คือ ค่าเฉลี่ยของปริมาณฝนคาบ 30 ปี ตั้งแต่ปี 2534 - 2563 ซึ่งค่าเฉลี่ยจนถึงวันที่ 16 ตุลาคม อยู่ที่ 1,461.6 มิลลิเมตร

แต่สำหรับปี 2566 ปริมาณฝนสะสมของประเทศไทย จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม คือ 1260.2 มิลลิเมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าปกติอยู่ถึง 197.6 มิลลิเมตร

และหากเปรียบเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้า

ปี 2565 ปริมาณฝนสะสมของประเทศไทย จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม คือ 1,720.2 มิลลิเมตร
ปี 2564 ปริมาณฝนสะสมของประเทศไทย จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม คือ 1,446.2 มิลลิเมตร

จะเห็นได้ว่า ปริมาณฝนสะสมของประเทศไทย จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2566 น้อยที่สุดในรอบ 3 ปี (2564 - 2566)



นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาปริมาณฝนสะสม แบบแบ่งตามภูมิภาค จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2566 พบว่า แทบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่าค่าปกติ ยกเว้นเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วม

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความคิดเห็นต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นว่า “ปีนี้มีปริมาณฝนสะสมน้อย แต่น้ำยังท่วม แสดงให้เห็นว่า การจัดการมีปัญหา โดยเฉพาะด้านผังเมือง และพื้นที่รับน้ำ”

รศ.ดร.เสรี ได้ตั้งคำถามว่า “หากต่อไป ในอนาคตข้างหน้า ถ้าฝนตกหนักอย่างในปี 2554 น้ำจะไม่ท่วมหนักยิ่งกว่าปีนี้อีกหรือ?”


หนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้มีฝนตกในประเทศไทย ก็คือ พายุหมุนเขตร้อน
พายุหมุนเขตร้อน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสียหายได้อย่างรุนแรงและเป็นบริเวณกว้าง มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรในแถบละติจูดต่ำของเขตร้อน

คำจำกัดความของเขตร้อน คือ บริเวณรอบเขตเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจำกัดด้วยเส้น Tropic of Cancer ในซีกโลกเหนือ และ Tropic of Capricorn ในซีกโลกใต้  

พายุหมุนเขตร้อน เกิดจากความดันอากาศของ 2 บริเวณแตกต่างกันมาก ทำให้อากาศเคลื่อนที่จากบริเวณที่มีความดันอากาศสูงกว่า ไปยังบริเวณที่มีความดันอากาศต่ำกว่า ในลักษณะหมุนเข้าสู่ศูนย์กลาง

พายุหมุนเขตร้อน แบ่งตามระดับความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับหลัก ๆ ได้แก่
1. พายุดีเปรสชั่น มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางต่ำกว่า 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
2. พายุโซนร้อน มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางระหว่าง 34 - 64 นอต (63 - 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
3. พายุไต้ฝุ่น มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 65 นอต (117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป

ข้อมูลจากศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ในคาบ 72 ปี (2494 – 2565) โดยเฉลี่ยแล้วจะมีพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ปีละ 2.85 ลูก

หากเปรียบเทียบจำนวนพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยกับ 3 ปีก่อนหน้า พบว่า

ปี 2563 มีพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 3 ลูก คือ พายุโซนร้อนซินลากู (Sinlaku) , พายุโซนร้อนโนอึล (Noul)  และ พายุไต้ฝุ่นโมลาเบ (Molave)

ปี 2564 มีพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยเพียง 1 ลูก ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ย คือ พายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ (Dianmu)

และปี 2565 มีพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยเพียง 1 ลูก ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยเช่นเดียวกัน คือ พายุไต้ฝุ่นโนรู (Noru)

สำหรับปี 2566 ยังไม่มีพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงแม้แต่ลูกเดียว

ทั้งนี้ ในคาบ 72 ปี (2494 – 2565) มีเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นที่ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย คือ ปี 2519 , 2545 และ 2557


แล้วสถานการณ์น้ำในเขื่อนเป็นอย่างไร?
หากจะพิจารณาสถานการณ์น้ำในเขื่อน ก็ควรจะพิจาณาจากปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริง ไม่ใช่ปริมาณน้ำที่กักเก็บทั้งหมดตามความจุเขื่อน เนื่องจากแต่ละเขื่อนจะต้องเหลือน้ำไว้ที่ก้นเขื่อน ซึ่งเรียกว่า ปริมาณน้ำกักเก็บต่ำสุด เพื่อไม่ให้เขื่อนทรุดหรือพัง และใช้สำหรับการตกตะกอน

การวัดปริมาณน้ำในเขื่อนจะใช้หน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

ยกตัวอย่างเช่น เขื่อนภูมิพล มีความจุเขื่อน 13,462 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำกักเก็บต่ำสุด 3,800 ล้าน ลบ.ม. จึงมีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริงสูงสุด 9,662 ล้าน ลบ.ม.

ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริงของ 4 เขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีดังนี้

1. เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริง 4,909 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 36 % ของความจุเขื่อน

2. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริง 2,989 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 31 % ของความจุเขื่อน

3. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริง 847 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 90 % ของความจุเขื่อน

4. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริง 782 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 81 % ของความจุเขื่อน


แม้เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงมาก แต่เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงไม่ถึง 50 % ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย


เมื่อรวมปริมาณน้ำจากเขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 4 เขื่อน พบว่ามีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริงเพียง 9,527 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 38 % ของความจุรวมทั้ง 4 เขื่อน

หากย้อนดูข้อมูลของปี 2565 ปริมาณน้ำจากเขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 4 เขื่อน พบว่า ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2565 มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริงถึง 13,591 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 54 % ของความจุรวมทั้ง 4 เขื่อน

ดังนั้น ปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริงจากเขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 4 เขื่อน ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2566 น้อยกว่าปริมาณน้ำ ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2565 อยู่ 4,064 ล้าน ลบ.ม. หรือน้อยลง 16% ของความจุรวมทั้ง 4 เขื่อน


นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง (เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนเมษายน 2567 ) และช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2567) ที่ประมาณการไว้คือ 12,000 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ใช้งานได้จริงเพียง 9,527 ล้าน ลบ.ม. จึงต้องการปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก 2,643 ล้าน ลบ.ม. ถึงจะเพียงพอ


โดยปกติแล้ว จะต้องจัดสรรปริมาณส่วนหนึ่งไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณ 3,000 ล้าน ลบ.ม. เพราะฝนอาจตกช้า หรือตกทิ้งช่วง แต่ปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริง มีไม่ถึง 12,000 ล้าน ลบ.ม. จึงอาจจะไม่สามารถจัดสรรปริมาณน้ำได้อย่างเต็มจำนวน

สรุปสถานการณ์ของปี 2566 อย่างคร่าว ๆ คือ
- ปริมาณฝนสะสมน้อยที่สุดในรอบ 3 ปี
- ยังไม่มีพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย
- ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้งานได้จริงอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี
- ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ

สถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ค่อนข้างน่ากังวลว่า ในระยะเวลาอันใกล้ ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้ง


ภัยแล้ง ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
เมื่อเกิดภัยแล้งขึ้น ผลกระทบที่ตามมาแบ่งออกเป็นหลายด้าน ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ
- เกิดผลเสียต่อภาคเกษตร เมื่อเกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ ผลผลิตทางการเกษตรก็จะลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภคของประชาชนและการเลี้ยงปศุสัตว์ รวมถึงส่งผลต่อราคาสินค้าทางการเกษตร เช่น หากเกิดภัยแล้ง จนไม่สามารถปลูกข้าวได้ ราคาข้าวก็จะสูงขึ้น นอกจากนี้ หากผลผลิตทางการเกษตรลดลง ก็จะเป็นผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่ลดลง รวมถึงผู้ที่ประกอบการซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ก็จะมีรายได้ที่ลดลงเช่นกัน กล่าวคือ ภัยแล้งจะส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการโรงสีข้าว เครื่องจักร เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ทางการเกษตร

- เกิดผลเสียต่อภาคอุตสาหกรรม เมื่อเกิดภัยแล้ง โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในกระบวนการการผลิต เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และอุตสากรรมฟอกย้อม ก็จะได้รับผลกระทบ เพียงแต่อาจไม่รุนแรงเท่าภาคเกษตร

- เกิดผลเสียต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ภัยแล้งจะทำให้รายได้ของประชาชนในประเทศลดลง เศรษฐกิจของประเทศจึงเติบโตในอัตราที่ลดลงเช่นกัน

ด้านสังคมและสาธารณสุข
- ประชาชนขาดน้ำสำหรับอุปโภค และบริโภค ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจ

- เพิ่มโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง และโรคไข้เลือดออก หรือโรคอื่น ๆ ที่มียุงเป็นพาหะนำโรค รวมถึงโรคเครียด จากสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังประสบ

ด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
- เกิดผลเสียต่อคุณภาพน้ำ เมื่อแหล่งน้ำมีระดับปริมาณน้ำที่ลดลง ความเข้มข้นของสารพิษที่อยู่ในแหล่งน้ำก็จะสูงขึ้น รวมถึงตะกอนหรือสิ่งที่อยู่ด้านล่าง ก็สามารถขึ้นมาบนผิวน้ำ นอกจากนี้ในภาวะปกติ เมื่อน้ำทะเลหนุน ก็จะสามารถปล่อยน้ำเพื่อผลักดันน้ำทะเลออกไป แต่หากเกิดภัยแล้ง ก็จะไม่สามารถผลักดันน้ำทะเลออกไปได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ น้ำประปาเค็ม เนื่องจากน้ำทะเลที่หนุนสูง จะปะปนเข้ามาในสถานีสูบน้ำ ทำให้น้ำที่จะเข้าไปในกระบวนการผลิตน้ำประปา มีปริมาณโซเดียมคลอไรด์ที่สูงกว่าปกติ

- เกิดผลเสียต่อคุณภาพดิน ภัยแล้งจะทำให้น้ำในดินลดลง ดินจะขาดความชุ่มชื้น จนอาจทำให้เกิดภาวะ ดินเค็ม

- เกิดผลเสียต่อคุณภาพอากาศ เมื่อสภาพภูมิอากาศขาดความชุ่มชื้น มลภาวะทางอากาศก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น เช่น ฝุ่นละออง หรือพายุฝุ่น รวมถึงอนุภาคขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 และหมอกควันต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมาจากไฟป่า ที่เกิดขึ้นได้ง่าย ในช่วงภัยแล้ง

- เกิดผลเสียต่อภูมิประเทศ ภัยแล้งจะทำให้เกิดการกัดเซาะ รวมถึงการพังทลายของผิวดิน นอกจากนี้ เมื่อแหล่งน้ำมีระดับปริมาณน้ำที่ลดลง ตลิ่งต่าง ๆ ก็อาจจะทรุดตัว หรือพังทลายได้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนของประชาชน

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ให้ความคิดเห็นต่อผลกระทบของภัยแล้งว่า เมื่อเกิดภัยแล้งขึ้น ปริมาณน้ำสำหรับใช้ก็จะไม่พอ ภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 80 % ของทั้งหมด

รศ.ดร.เสรี ยังระบุอีกว่า ถ้าน้ำไม่พอ แล้วน้ำทะเลหนุนสูง ปัญหาน้ำประปาเค็มก็จะเกิดขึ้น เพราะยังไงน้ำประปาก็ต้องผลิตทุกวัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีฝนตกอย่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน และเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า หากน้ำทะเลหนุนสูง แล้วไม่มีน้ำเพียงพอไว้ผลักดันน้ำทะเลกลับไป พื้นที่ที่มักจะได้รับผลกระทบ คือพื้นที่ที่ใช้น้ำประปาซึ่งผลิตจากสถานีสูบน้ำดิบสำแล ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร

ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับภาคเกษตร หน่วยงานภาครัฐได้รณรงค์ และขอความร่วมมือให้เกษตรกรไม่เพาะปลูกต่อเนื่อง เพื่อลดการใช้น้ำ และส่งเสริมให้เกษตรกรทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ส่วนภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐก็ได้รณรงค์ ให้ประหยัดน้ำมากขึ้น


นอกจากการรณรงค์ หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการรับมืออย่างไรอีกบ้าง?
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยหลังจากสทนช. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจาก 8 กระทรวง รวม 31 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วประเทศ เกษตรกร และสื่อมวลชน ถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปีก่อนหน้า รวมกับสถานการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้น นำไปสู่การจัดทำร่างมาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566 - 2567 ซึ่งมี 9 มาตรการ ประกอบด้วย

1. เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง วางแผนเตรียมเครื่องจักรและเครื่องมือพร้อมจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางอย่างมีมาตรฐาน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

2. ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ได้ปริมาณน้ำสำรองมากที่สุด นำน้ำใต้ดินมาใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งน้ำใต้ดินมีปริมาณมากถึง 40,000 ล้าน ลบ.ม.

3. กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เอลนีโญ ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร พร้อมเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำนอง  

4. จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ

5. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ส่งเสริมพืชใช้น้ำน้อยในภาคการเกษตร ประหยัดการใช้น้ำในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมจัดการน้ำเสียตามหลัก 3R (Reduce - ใช้น้อย, Reuse - ใช้ซ้ำ, Recycle - นำกลับมาใช้ใหม่) รวมถึงลดการสูญเสียน้ำในระบบประปาและระบบชลประทาน

6. เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ

7. เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน และองค์กรผู้ใช้น้ำ

8. สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์

9. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566 - 2567 ยังคงเป็นเพียงแค่ร่าง

ประเด็นนี้ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ระบุว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอการแต่งตั้ง “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” (กนช.)

เมื่อ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถูกแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว ร่างมาตรการดังกล่าว จึงจะถูกพิจารณา เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สำหรับประกาศและบังคับใช้เป็นแนวปฏิบัติอย่างเป็นทางการ

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า

“ภาคประชาชนอย่างเราทำได้แค่เพียงปรับตัว น้ำจะท่วม หรือน้ำจะแล้ง เราก็ต้องปรับตัว มาตรการรับมือต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งควรรีบเร่งออกมาตรการให้เร็วที่สุด หน่วยงานภาครัฐจะปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉย ๆ ไม่ได้”

รศ.ดร.เสรี ยังได้ให้ความเห็นอีกว่า “ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง หากหน่วยงานภาครัฐยังไม่ออกมาตรการให้ชัดเจน เกษตรกรจะเริ่มเพาะปลูกนาปรัง เพราะตอนนี้ราคาข้าวค่อนข้างสูง ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรเดือดร้อน เนื่องจากมีน้ำไม่พอใช้”

สำหรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ระบุว่า ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ผ่านทางเพจ facebook “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” และ “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” โดยสามารถสอบถาม หรือติดต่อขอความช่วยเหลือทาง inbox ได้ทั้ง 2 เพจ


คุณอาจสนใจ

Related News