สิ่งแวดล้อม

เครือข่ายปชช. ประกาศกร้าว "ไม่เอาเขื่อนแม่น้ำโขง" วอนรบ. ตรวจสอบผลกระทบก่อนทำสัญญา

โดย nut_p

10 ธ.ค. 2566

133 views

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง กล่าวคำประกาศแม่น้ำโขง เรียกร้องร่วมกันปกป้องแม่น้ำโขงจากเขื่อนปากแบง โดยขอให้รัฐทบทวนการซื้อสัญญาไฟฟ้าโดยต้องมีการตรวจสอบผลกระทบให้รอบคอบก่อนทำสัญญา เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดอย่างหนักในอนาคต ติดตามรายงานจากคุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย



ขบวนเรือแม่น้ำโขง ทั้งเรือคายัคและเรือโดยสาร พร้อมป้ายข้อความรณรงค์รักษาแม่น้ำโขง ล่องมาตามแม่น้ำโขง ก่อน เข้าเทียบท่าโฮงเฮียนน้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จะกล่าวคำประกาศแม่น้ำโขง ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานฮอมปอยแม่น้ำโขง ที่มีเครือข่ายประชาชนจากลุ่มน้ำโขง น้ำยม อิระวดี เจ้าพระยา ได้มารวมกันเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการรักษาแม่น้ำโขงให้ไหลอย่างอิสระ



แม้กว่า 30 ปีที่ผ่านมา แม่น้ำโขงเผชิญความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เขื่อนแห่งแรกสร้างขึ้นบนแม่น้ำโขงในจีน และเพิ่มขึ้นเป็น 13 เขื่อน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงในไทยจนเห็นผลชัดเจนมาแล้วในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดลุ่มน้ำโขงในไทย รวมถึงการเกิดขึ้นของเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮงในลาว ซึ่งแม่น้ำโขงไหลผ่าน 6 ประเทศ ทั้ง จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แม่น้ำโขงจึงเป็นความรับผิดชอบของทุกชาติ



การเกิดขึ้นของเขื่อนปากแบงยังเป็นหายนะสำหรับชาวจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะอำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย อย่างปฏิเสธไม่ได้อีกแล้ว รวมถึงการที่ไทยลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากบริษัทเขื่อน 3 แห่ง รวมถึงเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนปากแบง คุ้มค่าหรือไม่กับราคาค่าไฟของคนทั้งประเทศ ที่ต้องจ่ายไปกับระบบนิเวศที่เสียหาย จ่ายด้วยการสูญเสียวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ของคนลุ่มน้ำโขง พลังงานสะอาดจากเขื่อน กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิของแม่น้ำอย่างมิอาจเรียกคืนได้



เสียงสะท้อนจากเวทีสถานการณ์แม่น้ำโขง จากผู้นำชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนสถานทูตจีน และผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อน เห็นตรงกันว่ากระบวนการศึกษาผลกระทบโครงการเขื่อนปากแบง โดยเฉพาะในส่วนราชการของไทย ไม่ได้ทำมาตั้งแต่ต้น เมื่อ 6 ปีก่อนที่มีกระบวนการแจ้งปรึกษาหารือและข้อตกลง PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง และต้องศึกษาผลกระทบก่อนจะทำการลงนามซื้อไฟฟ้า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 อย่างที่กรมทรัพยากรน้ำมีข้อมูลอยู่แล้วว่าหากมีเขื่อนปากแบง ในสปป.ลาว พื้นที่อ่างเก็บน้ำจะล้ำเข้ามาในไทย 20-30 กิโลเมตร จึงกระทบกับอำเภเวียงแก่น อำเภอเชียงของ ของไทยอย่างแน่นอน ซึ่งไม่มีการศึกษาผผลกระทบ จึงอาจกลายเป็นความผิดพลาดในการลงนามสัญญา ที่สามารถขอยกเลิกสัญญาการซื้อไฟได้ ซึ่งยังมีเวลาอีก 1 ปี แม้การยกเลิกสัญญาจะเสียหายได้ แต่อาจน้อยกว่า หากโครงการที่ดำเนินการไปนั้นไม่ได้ผ่านการประเมินที่รอบคอบจริง



นอกจากนี้ยังคุ้มค่าหรือไม่ กับการซื้อไฟฟ้ากับปริมาณควาามต้องการในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับการสูญเสียทางทรัพยากรธรรมชาติของแม่น้ำโขง

คุณอาจสนใจ

Related News