บันเทิง

ย้อนชีวิต ‘น้าค่อม ชวนชื่น’ ตลกอยู่ในสายเลือด ใครโดนด่าก็ไม่โกรธ สร้างรอยยิ้มให้คนไทย ก่อนจากไปด้วยโควิด

โดย nicharee_m

30 เม.ย. 2564

7.9K views

‘ค่อม ชวนชื่น’ นักแสดงตลกอาวุโสอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ชื่อจริง อาคม ปรีดากุล เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2501 ภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่ออดีต ‘น้าค่อม’ เคยเป็นสมาชิกตลกคณะชวนชื่น จึงได้ใช้ชื่อในวงการว่า ค่อม ชวนชื่น ตั้งแต่นั้นมา วงการบันเทิงมักจะเรียกติดปากว่า ‘น้าเหยิน’ ด้วยความที่ไม่รู้หนังสือเลย แต่เขากลับเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษเรื่องการจำบทได้อย่างแม่นยำ




เส้นทางชีวิตของค่อมนั้นได้ยึดอาชีพตลกยาวนานกว่า 20 ปี มีทั้งผลงานละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ และซิตคอมอีกมากมาย โดยผลงานแสดงที่สร้างชื่อเสียงให้กับน้าค่อม ได้รับบทบาทในภาพยนต์เรื่อง 7 ประจัญบานทั้ง 2 ภาค, ตั๊ดสู้ฟุด, หอแต๋วแตก, โกยเถอะโยม, พยัคฆ์ร้าย ส่ายหน้า, แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า ฯลฯ และผลงานที่ฝากเสียงฮาไว้เรื่องสุดท้ายคือภาพยนตร์เรื่อง อีเรียมซิ่ง




ด้านชีวิตส่วนตัวน้าค่อม ชวนชื่น สมรสกับนางประภาศรี ปรีดากุล มีบุตร 3 คน ที่เป็นที่รู้จักคือ ไอซ์-ณพัชรินทร์ ไพบูลย์รัตนกิจ ที่ได้สมรสกับ แบงค์-อธิกิตติ์ ไพบูลย์รัตนกิจ หรือ แบงค์ แบล็ควานิลลา มีบุตร 1 คนคือน้องณิลลา 




น้าค่อมได้สร้างสีสัน ให้ความบันเทิงกับคนไทยมาอย่างยาวนาน เป็นที่เคารพนับถือของคนในวงการบันเทิงไทย และพี่น้องวงการตลก จนหลายคนบอกว่าถ้าโดนน้าค่อมด่าก็ไม่โกรธ โดยขณะเข้ารับการรักษาตัวจากวิด-19 น้าค่อมยังได้มอบเสียงหัวเราะครั้งสุดท้ายให้กับผู้ชม ผ่านการยิงมุกตลก สบายดีนะ ไอ้สั- กับหนุ่ม กรรชัย ขณะสัมภาษณ์ในรายการโหนกระแส ทางช่อง 3





สำหรับไทม์ไลน์อาการป่วยโควิด-19 ของน้าค่อม ทราบว่าติดเชื้อเมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา หลังไปร่วมถ่ายทำรายการ Hollywood Game Night Thailand ซึ่งมีผู้ร่วมรายการติดเชื้อหลายราย อาทิ วิลลี่ แมคอินทอช, บอล เชิญยิ้ม, แจ๊ส ชวนชื่น


โดยน้าค่อมมีโรคประจำตัว ทั้งเบาหวาน ความดัน และเส้นเลือดในสมองตีบ เมื่อติดเชื้อทาง รพ.แจ้งว่าเชื้อได้ลงปอดแล้ว ทำให้ต้องส่งเข้ารักษาตัวที่ห้อง ICU เป็นการด่วน ต่อมามีอาการไตวาย ทำให้ต้องฟอกไต


ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2564 ไอซ์ ณพัชรินทร์ ลูกสาวโพสต์แจ้งว่าอยู่ในภาวะโคม่า อวัยวะหลายอย่างล้มเหลว รวมถึงการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะชีพจรกับความดัน ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาที่ให้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้


ทางทีมแพทย์ได้ทำการช่วยเหลือทุกทางแล้ว ซึ่งการฟอกเลือดในตอนนี้ก็อาจจะไม่ช่วย ร่างกายมีเกล็ดเลือดต่ำ ยากดภูมิอื่นๆ ก็ให้ไม่ได้ เนื่องจากมีอาการติดเชื้อ อาจจะทำให้แย่กว่าเดิม และหากเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น การปั๊มหัวใจอาจจะเกิดการตอบสนองน้อย เนื่องจากอวัยวะหลายอย่างล้มเหลว ก่อนที่จะจากไปอย่างสงบในวัย 63 ปี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 เม.ย.2564 รวมเวลาในการรักษา 18 วัน






คุณอาจสนใจ

Related News