เศรษฐกิจ

ว่อน! เอกสารประชุม กสทช.นัดพิเศษ – ‘หมอสรณ’ แนะ กกท.ยกเลิกเอ็มโอยูกับทรู หากไม่คืน 600 ล้าน

โดย nicharee_m

10 ธ.ค. 2565

222 views

เปิดเอกสารประชุม กสทช.นัดพิเศษ ชี้ชัด กกท.รับทราบเงื่อนไขแต่ไม่ทำตามกฎ Must Carry - กสทช.แนะช่องออกไม่คืน 600 ล้าน ต้องยกเลิกเอ็มโอยูกับทรู

วานนี้ (9 ธ.ค.) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า การปฏิเสธไม่คืนเงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาทของ การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย และเมื่อไม่ยอมคืน สำนักงานกสทช. ก็จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามมติบอร์ดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565

“ความจริงไม่อยากให้เรียกว่าการทวงเงิน มติบอร์ดระบุให้กกท.ปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ที่ทำไว้กับสำนักงานกสทช. ซึ่งผู้ประกอบการไอพีทีวี ที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช. ต้องสามารถถ่ายทอดสดด้วยทุกราย หากไม่ปฏิบัติตาม ก็ต้องคืนเงินที่เราให้การสนับสนุนไปจำนวน 600 ล้านบาท”

นพ.สรณ กล่าวว่า เอ็มโอยู ที่ กกท.เซ็นกับสำนักงานกสทช. กำหนดแบบนั้น เมื่อไม่ปฏิบัติตามก็จำเป็นต้องทวงเงินคืน เพราะถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข หากไม่คืนก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาล เพราะเงินสนับสนุนเป็นเงินในกำกับดูแลของกสทช. มติของบอร์ดเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ แม้ว่าหน่วยงานพิพาทจะเป็นภาครัฐด้วยกัน ก็ไม่สามารถละเว้น

ประธาน กสทช.กล่าวเสริมว่า ขอให้การต่อสู้กันในศาลปกครอง เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง หาก กกท. ไม่นำเงินมาคืนภายใน 15 วัน หรือหากว่า กกท. ยกเลิกเอ็มโอยูที่ทำร่วมกับ ‘ทรู’ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน และเปิดให้ประชาชนได้รับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างทั่วถึง กกท. ก็มีสิทธิ์ไม่ต้องคืนเงิน และถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหานี้

พร้อมระบุว่า กสทช.เป็นองค์กรกำกับดูแล แต่ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายเอ็มโอยูระหว่าง กกท. และทรู ได้ ซึ่งมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นเพราะเอ็มโอยูทั้ง 2 ฉบับ มีตัวบทกฎหมายที่แตกต่างกัน ระหว่างกฎมัสต์แครี่ และกฎหมายลิขสิทธิ์

ขณะที่ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.กล่าวว่า ตนพร้อมจะเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ กสทช. ตลอดเวลา ทั้งนี้ มีตัวอย่างเทียบเคียง ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 รายการที่อยู่ในกฎมัสต์แฮฟ ที่จะต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ดูฟรี โดยในช่วงนั้นกล่องรับสัญญาณเอกชนเจ้าหนึ่ง เป็นผู้รับหน้าที่ในการออกอากาศ และปิดกั้นสัญญาณในส่วนของกล่องรับสัญญาณเจ้าอื่น ๆ ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีเดียวกัน ในกฎมัสต์แคร์รี่ ก็อยากให้ทาง กสทช. ออกมาชี้แจงว่าเ หตุใดรายการนั้นทำได้ และทำไมรายการนี้ทำไม่ได้

ซึ่งมีการเปิดเผยเอกสารการประชุมบางส่วนออกมา โดยมีประเด็นที่หลายคนยังคงสงสัย ถึงที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของกสทช. คนไหน ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) อ้างว่า ได้ตกลงด้วยวาจา และเป็นผู้ชี้แนวทางให้ กกท. ดำเนินการทำเอ็มโอยูกับเอกชน แบบไม่สนใจประกาศมัสต์แครี่

โดย กกท. ได้ส่งตัวแทนผู้บริหารระดับสูง จำนวน 3 คน ได้แก่ นายยุธยา จีนหีต ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, นายสมพร ไชยสงคราม ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กกท., นายอภิชาต ชื่นสุวรรณ ที่ปรึกษาผู้ว่าการ กกท. เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงและยืนยันต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่า ได้รับมอบอำนาจจากนายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ในการเข้ามาชี้แจงครั้งนี้

ทั้งนี้ ในเอกสารบันทึกการประชุม มี 3 ประเด็นที่เปิดเผยเกี่ยวกับปมลิขสิทธิ์ฟตุบอลโลกที่ยังเป็นประเด็นปัญหา ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กกท. ย้ำชัด รับทราบและเข้าใจว่า ไอพีทีวีอยู่ใต้ประกาศมัสต์แครี่ของ กสทช. ที่ กกท.ต้องปฏิบัติตาม

ประเด็นที่ 2 ก่อนลงนาม กกท.ได้หารือ รองเลขาฯ กสทช.เรื่องการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากภาคเอกชน และได้รับคำตอบจาก รองเลขาฯ กสทช.ว่าสามารถดำเนินการได้ โดยให้ปฏิบัติตามกฏหมายลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องยึดตามประกาศมัสต์แครี่

ประเด็นที่ 3 กกท.รับทราบและเข้าใจดีว่า หากมอบสิทธิ์ Exclusive Right ให้กับกลุ่มทรูแล้ว จะส่งผลให้ไอพีทีวี รายอื่นจอดำ อันเป็นการขัดต่อกฎมัสต์แครี่ แต่ กกท.ก็ยอมรับว่า จำเป็นต้องให้กลุ่มทรูเข้ามารับสิทธิ์ดังกล่าว ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ

ตามเอกสารการประชุม กสทช.นัดพิเศษ ฟุตบอลโลก 2022 ข้างต้น ชี้ชัดว่า ทาง กกท. รับทราบและเข้าใจดีถึงประกาศมัสต์แครี่ ต้องปฏิบัติตาม หากรับเงินสนับสนุน 600 ล้านบาทจาก กสทช.ที่ต้องดำเนินการถ่ายทอดสด ผ่านการให้บริการของผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ในกำกับดูแลของ กสทช.ในทุกประเภท และทุกช่องทางอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยว่า รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.คือ ผู้ที่ให้คำปรึกษา และตกลงด้วยวาจากับ กกท. ว่า กกท.ไม่ต้องกังวลเรื่องประกาศมัสต์แครี่ ไม่ต้องปฏิบัติตามก็ได้ และยังแนะแนวทางให้ กกท.ไปใช้กฎหมายลิขสิทธิ์แทนได้ ถ้าต้องหาเอกชนรายอื่นเข้ามาสนับสนุน ซึ่งมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามประกาศมัสต์แครี่ อีกทั้ง ยังรู้ล่วงหน้าได้อย่างไร ว่า กกท.จะไปหาสปอนเซอร์ภาคเอกชนเป็นโอเปอเรเตอร์เครือข่ายมือถือและอินเตอร์เน็ต จึงได้แนะนำเช่นนั้นไป


https://youtu.be/IAPPUS6iM9w

คุณอาจสนใจ

Related News