เศรษฐกิจ

กทม.อ่วม! พาเหรดผัก-เนื้อสัตว์ ขึ้นราคา ‘เรือข้ามฟาก’ ปรับขึ้นอีก 50 สตางค์ เริ่ม 1 มิ.ย.นี้

โดย passamon_a

28 พ.ค. 2565

180 views

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกระแสข่าวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรายำยำ ได้ปรับขึ้นราคาซองละ 10 สตางค์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า กรมการค้าภายในได้ตรวจสอบข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรายำยำแล้ว ได้รับการยืนยันว่า ในเดือนนี้ยังไม่ได้มีการปรับราคาตามที่เป็นข่าว แต่กำลังจะมีการปรับลดส่วนลดในการค้าส่ง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการในทางธุรกิจ แต่กรมฯ ได้ย้ำจะต้องไม่กระทบถึงราคาขายปลีกที่ผู้บริโภคเนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาต จึงจะปรับราคาขายปลีกได้

กรมการค้าภายใน เผยราคาสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบผักกาดหอม คัด ปรับขึ้น 10 บาท/กก. (80-85 บาท) ผักชี คัด ปรับขึ้น 10 บาท/กก.(160-170 บาท) ผักบุ้งไทย (10 กำ) ปรับขึ้น 10 บาท/กก. (90-100 บาท) ต้นหอม คัด ปรับขึ้น 5 บาท/กก. (85-95 บาท) ไก่สดชำแหละ (เนื้อสันใน) ปรับขึ้น 5 บาท/กก. (90-100 บาท) ปลาดุก พันธุ์บิ๊กอุย ปรับขึ้น 5 บาท/กก. (75-85 บาท)

ด้านนายสุธีย์ สุภาพร ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมเรือไทยและผู้ให้บริการท่าเรือข้ามฟาก เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 มิถุนายน นี้ เรือข้ามฟาก จำนวน 8 ท่า จะปรับขึ้นค่าโดยสาร อีก 50 สตางค์ต่อเที่ยว หลังกรมเจ้าท่า อนุญาตให้ขึ้นค่าโดยสารเรือข้ามฟากตามที่ทางสมาคมร้องขอ เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซล ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงได้ อีกทั้งจำนวนผู้โดยสารก็ลดลงเหลือ ประมาณ 500 คนต่อวันจากก่อนโควิด บางท่าเรือมีผู้โดยสาร วันละ 5,000 - 6,000 คน

ทั้งนี้ ค่าโดยสารเรือข้ามฟาก ควรเก็บที่ 5 บาทต่อเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน และในอนาคตหากน้ำมันดีเซลปรับขึ้นถึง 35 บาทต่อลิตร ผู้ประกอบการก็จะขอขึ้นค่าโดยสารเพิ่มอีก

ขณะที่ วานนี้ (วันที่ 27 พ.ค.) นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟู แต่ยังคงมีความเปราะบาง และกำลังเผชิญกับพายุเศรษฐกิจ 5 สูง ประกอบด้วย เงินเฟ้อสูง หนี้ครัวเรือนสูง ราคาพลังงานสูง ต้นทุนสินค้าสูง และราคาสินค้าสูง และยังเสี่ยงเผชิญกับ Stagflation หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

จึงจำเป็นต้องเร่งเครื่องเดินหน้าเศรษฐกิจให้โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฝ่าพายุเศรษฐกิจ 5 สูง ไปให้ได้ โดยเห็นว่าภาคค้าปลีกและบริการจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องจักรสำคัญ ที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวมี SMEs ของค้าปลีกและบริการอยู่ถึง 2.4 ล้านราย คิดเป็น 80% ของ SMEs ทั้งประเทศ มีการจ้างงานกว่า 13 ล้านราย

โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้เสนอ 3 มาตรการ ดันเศรษฐกิจไทยให้ติดปีก คือ ช่วยเหลือ SMEs ในระบบ "THAI SME" ให้เข้าถึงเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนการจ้างงานผ่านโครงการ Co-Payment ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภาษี สำหรับนักท่องเที่ยว และอัดเงินเข้าระบบผ่านโครงการช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง และไทยเที่ยวไทย ยาวถึงสิ้นปี เพื่อรับมือกับพายุเศรษฐกิจ และดันเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/8ETjk0e0K-g

คุณอาจสนใจ

Related News