เศรษฐกิจ

เปิดใจสาวกู้เงินผ่านแอปฯ 'สินเชื่อความสุข' ดอกโหด 300% ถูกแอดไลน์ด่า-ขู่ ทนไม่ไหวเกือบคิดสั้น

โดย panwilai_c

13 ม.ค. 2568

543 views

เปิดใจผู้เสียหายเงินกู้ ผ่านแอปฯ "สินเชื่อความสุข" ในมือถือ OPPO กู้เจ้าหนี้ไป 48 เจ้าจำนวน 80,000 จ่ายจริง 700,000 บาท ถูกแก๊งปล่อยกู้ข่มขู่ แอดไลน์ด่า โทรก่อกวน ตนเองและคนใกล้ชิด จนเกือบจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย พร้อมให้ข้อคิด ว่าอย่าหลงเข้าไปในวังวนเงินกู้ออนไลน์ เพราะคิดดอกเบี้ยสูงถึง 250-300 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน



ทีมข่าวได้พูดคุยกับผู้เสียหายรายหนึ่ง ใช้นามสมมติชื่อว่า "คุณเอ๋" เป็นเหยื่อที่หลงเข้าไปกู้เงินผ่านแอปฯสินเชื่อความสุข



คุณเอ๋เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2567 เธอจำเป็นต้องใช้เงิน 50,000 บาท จากนั้นโทรศัพท์ของเธอ (ยี่ห้อ oppo) มีข้อความส่งลิงก์มาในมือถือ ระบุว่า ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ออนไลน์ ผ่านแอปฯ สินเชื่อความสุข หรือ Fineasy เธอจึงตัดสินใจโหลดแอปฯนี้ มาติดตั้งในมือถือ และสมัครสมาชิก



จากนั้น แอปฯให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ทั้งหมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ พร้อมถ่ายรูปเซลฟี่ใบหน้าตนเอง ขณะถือบัตรประชาชน เพื่อลงทะเบียนในแอปฯ พร้อมกรอกข้อมูลธนาคาร และกดอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ในมือถือ ร่วมถึงรายชื่อเพื่อนในมือถือด้วย



เมื่อเธอสมัครแอปฯ สินเชื่อความสุขเสร็จ แล้วพบว่า ภายในแอปฯ มีบริษัทให้บริการเงินกู้ออนไลน์เป็นจำนวนมาก ช่วงแรกมีอยู่ประมาณ 10 กว่าบริษัท เมื่อเธอกู้เงินในแอปฯไป บริษัทเงินกู้ในแอปฯ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีรายชื่อบริษัทปล่อยกู้ อยู่ 50-60 บริษัท



คุณเอ๋เล่าว่า เธอเริ่มกู้เงิน กับบริษัทให้กู้ ที่อยู่ภายในแอปฯ บริษัทละ 10,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงเพียง 6,000 – 6,500 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทที่ให้กู้ โดยเงินที่หักไป ที่ได้ไม่เต็ม 10,000 บาท นั้นถูกคิดเป็นดอกเบี้ย แต่การคืนเงินนั้น ต้องคืนเต็มจำนวน คือ 10,000 บาท



โดยแต่ละบริษัท จะให้ระยะเวลาคืนเงิน ภายใน 7 วัน แต่ในความจริง ยังไม่ถึงกำหนดวันชำระเงินประมาณวันที่ 5-6 เท่านั้น ที่กู้เงินไป บริษัทที่ปล่อยกู้จะมีการโทรมาทวงหนี้ และระบุว่า เป็นระเบียบของบริษัท ที่จะต้องทวงหนี้ก่อนถึงวันครบกำหนดจ่าย



หลังเธอกู้แล้ว เมื่อไม่มีเงินจ่ายตามกำหนด ก็ใช้วิธีการกู้เงินในบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ภายในแอปฯ สินเชื่อความสุข ไปจ่ายอีกเจ้าหนึ่ง



ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็จะแตกต่างกันออกไป (มีทั้งกู้ 10,000 ได้เงิน 7000 หรือบางบริษัทกู้ 10,000 ได้เงิน 5,500 บาท) หมุนเวียน และกู้วนจ่ายไปเรื่อยๆเช่นนี้ ทำให้กลายเป็นดินพอกหางหมู ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ที่เข้ามาในวังวนเงินกู้ออนไลน์ เธอกู้เงินจากบริษัท ที่อยู่ในแอปสินเชื่อความสุขทั้งหมด 48 เจ้า วงเงินรวมทั้งหมด 700,000 บาท จากเบื้องต้นที่เริ่มกู้ครั้งแรกเพียง 50,000 บาท



หลังจากที่สะสมเป็นดินพอกหางหมู จนเธอไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ เจ้าหนี้ที่อยู่ในชื่อบริษัทต่างๆภายในแอปฯสินเชื่อความสุข ก็จะเริ่มใช้จิตวิทยากดดัน ด้วยการโทรมาทวงบ่อยๆในแต่ละวัน การแอด LINE และส่งข้อความมาทวง หรือบางครั้งการพิมพ์ข้อความมาด่า ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย และสิ่งที่ทำให้เธอเครียดมากที่สุด คือการที่บริษัทปล่อยกู้ โทรไปหาเพื่อน หาญาติ หาครอบครัว และหาทุกคนที่รู้จัก และมีรายชื่ออยู่ในมือถือของเธอ โดยบอกว่าเธอกู้เงินมา และไปโกงเงินบริษัทเงินกู้มา



เธอจำเป็นต้องอยู่ในวังวนนี้ 2 เดือน มีผู้ชายมาทวงหนี้ด้วยน้ำเสียงดู จนเธอหมดหนทาง และไม่รู้จะหาเงินที่ไหน จนเธอคิดอยากฆ่าตัวตาย เนื่องจากบริษัทกู้เข้าไปในเฟซบุ๊กและไป Copy รูปในเฟซบุ๊กมาข่มขู่ ว่าถ้าไม่มีจ่ายจะประจาน จนมีครั้งหนึ่งเธอตัดสินในฆ่าตัวตาย ด้วยการขึ้นไปอยู่บนตึกลานจอดรถ ระหว่างจะก้าวขากระโดดตึก เธอได้ยินเสียงพ่อแม่(พ่อแม่เสียชีวิตไปนานแล้ว) พี่สาว เธอจึงตัดสินใจไม่กระโดดลงไป เพราะคิดถึงคนในครอบครัว สุดท้ายคนที่ช่วยเธอปิดหนี้จากแอปฯก็คือ ญาติและครอบครัว วงเงิน 700,000 บาท เมื่อ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา จึงอยากมาเล่าเรื่องของเธอเป็นบทเรียนให้กับคนอื่น



ล่าสุด เพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้โพสต์ข้อความว่า "สอบถามจ้า นอกจาก OPPO กับ Realme แล้ว มีใครใช้โทรศัพท์ค่ายอื่นแล้ว เจอว่าถูกติดตั้งแอปฯเงินกู้เถื่อนมา โดยที่เราไม่ยินยอมไหม พร้อมติดแฮชแทค สภาผู้บริโภค เพิ่งได้ข้อมูลจากผู้บริโภคที่ใช้ Vivo X100 ในเครื่องถูกติดตั้งแอปฯโดยไม่ยินยอมด้วย



ทีมข่าวสอบถามไปยัง สภาผู้บริโภค บอกว่า มีผู้บริโภคส่งข้อมูลมาจริง และได้ตรวจสอบ ทีมดูแลระบบของ มือถือVivo ยืนยันว่า ไม่มีแอปฯกู้เงินเถื่อนดังกล่าวติดมากับมือถือ แต่ แอปฯอาจจะติดมาจากการย้ายข้อมูลของมือถือยี่ห้ออื่น



พร้อมกันนี้ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สำนักงานสภาผู้บริโภค ได้เรียกร้องให้ บริษัท OPPO และ Realme เร่งปลดล็อกแอปฯให้ผู้ใช้มือถือ โดยไม่ต้องไปที่ศูนย์บริการขนาดใหญ่ เพราะสร้างภาระให้ผู้บริโภค ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ ควรจ่ายเงินเยียวยา ค่าค่าเสียเวลาเดินทางให้ผู้บริโภค 2,000 บาทต่อราย เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายเดินทางมาที่ศูนย์บริการ



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/JDIABdJQkfE

คุณอาจสนใจ

Related News