เศรษฐกิจ

'ไทย" ศูนย์กลางผลิตวัคซีนโควิดของภูมิภาค ดันเศรษฐกิจโต

โดย panwilai_c

25 ก.พ. 2565

53 views

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมไปทั่วโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประเมินว่า มีความเสียหายกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ประเทศไทยมีการล็อคดาวน์นั้นได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไปกว่า 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งความหวังเดียวของการแก้ปัญหาการระบาด คือ "วัคซีน"



สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษา“ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ” หนึ่งในผลการวิจัยพบว่าการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีน ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 2560 – 2569’ ที่ตั้งเป้าหมายให้สามารถคิดค้น ทดลอง วิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนในประเทศได้เอง



โดยการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม และวิกฤตได้ชี้ให้เห็นว่า ไทยไม่ควรพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนเพียงอย่างเดียว เพราะเสี่ยงต่อการขาดแคลนวัคซีน



ที่ผ่านมาไทยได้สนับสนุนให้มีการผลิตวัคซีนภายในประเทศ หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การจ้างโรงงานผลิต ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี ที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งได้จ้างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่มีกำลังการผลิตเฉลี่ยปีละ 185 – 200 ล้านโดส โดยส่งมอบให้ไทยในฐานะฐานการผลิต 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตได้ทั้งหมด



ซึ่งในปัจจุบันวัคซีนของแอสตราเซนเนกาเป็นวัคซีนหลักของประเทศที่ฉีดให้กับประชาชน และสามารถลดการติดเชื้อ การป่วยหนัก และการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็ว นำมาสู่การผ่อนคลายล็อกดาวน์ ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย การผลิต การลงทุนกลับมาดีขึ้น เกิดการจ้างงาน การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว และยังทำให้ภาครัฐประหยัดเงิน จากการนำเข้าวัคซีนได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท ด้วยการมีฐานการผลิตในประเทศ



นอกจากจะเป็นหลักประกันว่า จะมีวัคซีนใช้เพียงพอแล้ว ยังเป็นโอกาสส่งออกวัคซีนสู่ต่างประเทศ ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่ามหาศาล และมีโอกาสเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ



ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/3UeUkgMndUw

คุณอาจสนใจ

Related News