เศรษฐกิจ

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ จวกรัฐแก้ปัญหาหมูแพงผิดจุด ลั่นหมูขาดแคลนไม่มีส่งออกอยู่แล้ว!

โดย pattraporn_a

6 ม.ค. 2565

54 views

วันนี้เป็นวันแรก ที่รับสั่งห้ามส่งออกหมู เพื่อแก้ปัญหาหมูแพง แต่ในมุมของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ออกมาจวกรัฐบาล แก้ปัญหาผิดจุด ตอนนี้หมูขาดแคลน ไม่มีส่งออกอยู่แล้ว แนะทางออกระยะเร่งด่วน ต้องประกาศวิกฤตโรคระบาดในหมู เป็นภาวะภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อนำเงิน คชก.มาฟื้นฟูผู้เลี้ยงรายย่อย เพิ่มปริมาณหมูในระบบ


นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึง มาตรการแก้ปัญหาหมูแพง ห้ามส่งออกหมู 3 เดือน เป็นการแก้ไขโดยไม่เข้าใจปัญหา และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพราะวันนี้ จำนวนหมูในประเทศไม่พอ เข้าขั้นขาดแคลน ไม่มีเหลือส่งออกอยู่แล้ว การส่งออกหมู เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ช่วงที่โควิด19 ระบาด ทำให้การบริโภคหมูในประเทศลดลง ปริมาณหมูในระบบเหลือ ทำให้ต้องส่งออก แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน ดังนั้นจะเอาข้อมูลเก่า มาใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้


โดยปัญหาในขณะนี้ คือ ต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น และเกิดโรคระบาดในหมู มีหมูตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ปริมาณหมูหายไปจากระบบ 5 ล้านตัว จะแก้ไขสถานการณ์ให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติ ภายในเวลา 4 เดือน เป็นไปไม่ได้ คาดว่า กว่าจะฟื้นได้ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ทั้งแก้ปัญหาโรคระบาด และการเพิ่มปริมาณหมูในระบบ ที่ต้องใช้เวลาเลี้ยงถึง 9 เดือนถึงจะชำแหละได้


การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน รัฐบาลต้องประกาศวิกฤตโรคระบาดในหมู เป็นภัยพิบัติฉุกเฉิน และให้คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร อนุมัติงบช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเป็นการเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูการเลี้ยงหมู และเพิ่มปริมาณหมูในระบบได้อย่างตรงจุด ส่วนระยะกลางและระยะยาว ควรปล่อยให้ราคาจูงใจการผลิต ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และปศุสัตว์ ควรเร่งเพิ่มปริมาณหมูในระบบ ส่งเสริมการเลี้ยง ลดต้นทุน และปรับปรุงฟาร์มให้ได้มาตรฐาน


ส่วนที่พูดกันว่า ราคาหมูในประเทศจะพุ่งถึงกิโลกรัมละ 300 บาทนั้น มองว่าเป็นการพูดชี้นำราคา แต่หากราคาจะพุ่งถึงกิโลกรัมละ 300 บาทจริง ราคาหมูมี ชีวิตหน้าฟาร์ม ต้องอยู่กิโลกรัมละ 150 บาท ซึ่งก็ไม่อยากคาดเดาว่า จะเกิดอะไรตามมา เพราะช่วงเวลานี้ นับเป็นช่วง คนกินเจ็บ คนเลี้ยงเจ๊งไปแล้ว และกระทบความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างชัดเจน




ชมผ่านยูทูบ :    https://youtu.be/Y4owiER14T8

คุณอาจสนใจ

Related News