เศรษฐกิจ
ไม่ใช่แค่ Moody ที่ปรับลดระดับ ทั้ง IMF และ World Bank คาดการณ์เศรษฐกิจไทยต่ำกว่ากัมพูชา-ลาว
โดย chutikan_o
1 พ.ค. 2568
385 views
ไม่ใช่แค่ Moody ที่ปรับลดระดับประเทศไทย ทั้ง IMF และ World Bank เป็นครั้งแรกของไทยอัตราการเติบโตทาง ศก. ต่ำกว่า “กัมพูชา-สปป.ลาว”
พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ออกมาโต้ กรณี Moody’s ได้ปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทยลงจาก “Stable” เป็น “Negative” ว่า เป็นเรื่องไม่น่าเป็นห่วงนั้น ว่า “รัฐบาลคงไม่เข้าใจระบบเศรษฐกิจมหภาคในภาพรวมของประเทศและของโลกดีพอ และการที่ Moody’s ได้ปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทยลงประเภท Senior unsecured bond ที่ Baa1 และเปลี่ยนแนวโน้ม (Outlook) เป็น “Negative” จาก “Stable” เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยดูจากระบบเศรษฐกืจในรอบปีที่ผ่านมาและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนความสามารถในการแก้ไขมาตรการภาษีสหรัฐฯ นั้น เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะมีผลกระทบอย่างไร ถ้ารัฐบาลไม่มีความรู้ความสามารถเรื่องระบบเศรษฐกิจก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในภาพรวมได้ ซึ่งเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายค้านที่เป็นห่วง ทั้งนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาเตือนรัฐบาลหลายครั้ง
พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวว่า การเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ผ่านมา ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (The World Economic Outlook: WEO) ฉบับเดือนเมษายนปี 2025 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของไทย (จีดีพี) ปี 2568 จาก 2.9% เหลือ 1.8% โดยมีประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่ IMF ปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงต่ำกว่าระดับ 2% เมื่อเปรียบเทียบกับ ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย เช่น อินเดีย 6.2% ฟิลิปปินส์ 5.5% เวียดนาม 5.2% อินโดนีเซีย 4.7 % มาเลเซีย 4.1% จีน 4.0% ไทย 1.8% จะเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับท้ายๆ สุด ส่วนในปี 2569 จีดีพีอาจลดเหลือเพียง 1.6% เท่านั้น
ไม่เพียงแต่ IMF หรือ Moody’s เท่านั้น ที่ปรับระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2568 ธนาคารโลก (World Bank) ยังปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2568 เหลือโต 1.6% ชะลอลงจากเมื่อเดือน ก.พ. 2568 ที่ได้ประเมินว่าจะเติบโตได้ 2.9% โดยพิจารณาการส่งออกและการลงทุน ซึ่งจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ในระดับสูงด้วย ขณะเดียวกันเปรียบเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก พบว่า มองโกเลีย โต 6.3%, เวียดนาม โต 5.8%, ฟิลิปปินส์ โต 5.3%, อินโดนีเซีย โต 4.7%, จีน โต 4.0%, กัมพูชา โต 4.0%, มาเลเซีย โต 3.9%, สปป.ลาว โต 3.5% ส่วนประเทศไทย โต 1.6% เท่านั้น
รัฐบาลต้องใช้มืออาชีพ ทางด้านการเงินการธนาคารระดับมหภาคที่มีความรู้ความสามารถมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ขนาดธนาคารโลก (World Bank) ยังปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ต่ำกว่าเวียดนาม (โต 5.8%) ฟิลิปปินส์ (โต 5.3%) อินโดนีเซีย (โต 4.7%) มาเลเซีย (โต 3.9%) เป็นครั้งแรกที่กัมพูชา (โต 4.0%) และสปป.ลาว (โต 3.5%) โตกว่าไทยเยอะ คำแนะนำหรือคำเตือนขององค์การเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศ เช่น IMF, Moody, World Bank ฯลฯ นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถ เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญ รัฐบาลควรพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ พัฒนาอุดสาหกรรมขนาดย่อม พัฒนา start up เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออก และส่งเสริมการลงทุนขนาดกลางและขนาดใหญ่เพื่อให้รายได้ประชาชนดีมากขึ้น
เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยตกต่ำมาก คนไทยตกงาน สินค้าเกษตร ราคาตกต่ำ มะม่วงราคาตกเหลือ กก.ละ 20 บาท ประชาชนรากหญ้ากำลังจะอดตาย หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น เงินกู้นอกระบบเกลื่อนทุกตลาด ทุกเสาไฟฟ้า เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ มากกว่าการกู้เงิน 500,000 ล้านบาทเพิ่มภาระหนี้ประชาชนให้สูงขึ้น แล้วเอามาแจกโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขนาดคนบางคนในรัฐบาล ในเรื่องค่าเงินบาทอ่อน/แข็งที่มีผลต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างไรยังไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานเศรษฐกิจแท้ๆ เรื่องยากๆ อย่างระบบเศรษฐกิจโดยรวมจะเข้าใจได้อย่างไร นี่คือ ปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข
แท็กที่เกี่ยวข้อง IMF ,World Bank ,เศรษฐกิจไทย ,Moody