เศรษฐกิจ
ตะลึง! เครดิตบูโร เปิดข้อมูลหนี้ครัวเรือน เข้าขั้นวิกฤต ชี้มีหนี้ 1.22 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย
โดย nutda_t
20 มี.ค. 2568
247 views
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้โพสต์เฟสบุ๊ก "Surapol Opasatien" กางข้อมูลหนี้ครัวเรือน โดยระบุว่า ท่ามกลางบทสนทนาเกี่ยวกับการซื้อๆ ขายๆ สิทธิเรียกร้อง หรือที่เรียกว่าหนี้สินระหว่างเจ้าหนี้เก่าไปยังเจ้าหนี้ใหม่(ถ้าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น) ผมขอดึงกลับมาที่สถานะของสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ณ เดือนมกราคม 2568 ให้เห็นก่อนว่า ข้อมูล, ข้อเท็จจริง เวลานี้มันเป็นอย่างไรกันบ้าง ข้อมูลนี้ไม่มีเป้าหมายสนับสนุนคนเห็นด้วย คนเห็นต่าง แต่อยากเห็นการใช้ความรู้บนข้อมูล ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกแบบไม่มีข้อมูล
ข้อมูลที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยป๋วย ซึ่งมีนักวิจัยที่เก่งมากๆ ท่านเหล่านั้น ได้นำข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตนจากเครดิตบูโรจำนวนกว่า 27ล้านลูกหนี้ ไปแยกแยะสุขภาพทางการเงินจากภาระหนี้สิน แล้วนำไปนำเสนอในงานสัมนาวิชาการ ของธนาคารกลางปีที่แล้ว ข้อมูลมันบอกว่า ในระบบการเงินของเราเวลานี้มีคนที่มีสุขภาพทางการเงินในระดับดี ซึ่งน่าจะพอยื่นกู้ได้เพียง 25% ครับ ที่เหลือก็ดูจะมีเงื่อนไขที่ดูจะยากในการได้รับอนุมัติตามมาตรฐานสินเชื่อในปัจจุบันที่เข้มถึงเข้มมาก
ขณะที่ภาพใหญ่ของสินเชื่อในระบบที่มีการส่งข้อมูลมาที่เครดิตบูโรทุกเดือน ตัวเลขคือ 13.6 ล้านล้านบาท ถ้าบวกเพิ่มด้วยหนี้ที่สหกรณ์ออมปล่อยกู้สมาชิกและกยศ.และอื่นๆ ก็จะไปอยู่ที่ 16.3 ล้านล้านบาท ที่เราเรียกว่าหนี้ครัวเรือนนั่นเอง
การเติบโตของหนี้ของบุคคลธรรมดาในระบบเท่ากับ -0.5% เทียบปีต่อปี หมายถึงสินเชื่อรายย่อยมันแทบไม่ขยับ เราจึงเห็นการบ่นทั่วแผ่นดินว่ากู้ไม่ได้ กู้ไม่ผ่าน อัตราการปฎิเสธการให้สินเชื่ออยู่ในระดับที่สูง หลายท่านคงเห็นด้วยกับผม ไปดูรายงานในหลายที่หลายแห่งก็พูดถึงการหดตัวของสินเชื่อรายย่อย, SMEs เป็นต้น
เจาะลงไปในไส้ในของหนี้ของนาย-ก.นาย-ข.จะพบว่า 1.22 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย NPLs คิดเป็นจำนวนทุกประเภทสินเชื่อ 9.5 ล้านบัญชีครับ และ 5.8 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย , หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือหนี้ SM จำนวน 1.9 ล้านบัญชี
หนี้เสียไปแล้วจากนั้นนำมาปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาหรือก็คือหนี้ NPLs เอามาทำ TDR กลายเป็นหนี้ปรับโครงสร้างอีก 1 ล้านล้านบาทคิดเป็น 3.7 ล้านบัญชีครับ
ต่อมาคือหนี้ที่เริ่มค้างชำระหรือเริ่มมีปัญหาแต่ยังไม่เกิน 90 วัน ซึ่งมีการรีบเร่งเอามาทำการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือทำ DR เพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ปกติ เริ่มเก็บข้อมูลเดือนเมษายน 2567 ตอนนี้ยอดสะสมเท่ากับ 9.2 แสนล้านบาทจำนวน 1.7 ล้านบัญชีครับ
ด้วยตัวเลขหนี้ที่มีลักษณะต่างๆ ข้างต้น ด้วยจำนวนมูลหนี้เป็นบาท ด้วยจำนวนที่นับเป็นบัญชีแล้ว เรามีปัญหาระดับที่อาจเรียกว่าวิกฤติแล้ว
การฟื้นตัวของรายได้ไม่มากพอ ไม่ทั่วถึง ยังมาไม่เต็มที่และไม่เหมือนเดิม ประกอบกับคนที่พยายามจะขอกู้ติดกำแพง เพราะถ้าจะต้องผ่อนเกินอายุ 60,65 ปี ใครเขาจะให้กู้ ชนกำแพงรายได้ เพราะมันมีข้อกำหนดเรื่อง Debt to income, หนี้ต่อรายได้ ว่าเต็มศักยภาพในการหารายได้มาจ่ายหนี้ถ้าจะก่อเพิ่มได้มั้ย
ชนกำแพงสถานะทางเครดิตคือ เป็นคนเคยค้างชำระมั้ย เป็นคนที่กำลังค้างอยู่มั้ย เป็นหนี้เสียมั้ย เคยเป็นหนี้ปรับโครงสร้างมั้ย สารพัดในคุณลักษณะครับ อย่างที่กล่าวข้างต้น เรามีคนสุขภาพทางการเงินดี 25% เท่านั้น ซึ่งหลายคนไม่มีความจำเป็นต้องกู้
ภาระหนี้สินกองเป็นภูเขาหลังจากเจอหลุมรายได้ มันฉุดกระชากเศรษฐกิจ, เซาะกร่อนบ่อนทำลายรากฐานความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ดังนั้นมาตรการที่กำลังแก้อยู่ไม่ว่า คุณสู้ เราช่วย จ่ายตรง คงทรัพย์ ปิดจ่ายจบ หรือที่กำลังวิวาทะฝุ่นตลบ หากทางใดทางหนึ่ง หรือทางหนึ่งทางใดจะทะลุปัญหานี้ นอกเหนือจากออกมาพูดเก๋ไก๋ ว่าเป็นเรื่องโครงสร้างแต่ไม่บอกวิธีแก้ชัดๆ แล้วหล่ะก็ เราควรใจกว้างๆ ใจร่มๆ เปิดรับฟังวิธีการ เราควรสู้กับเรื่อง ไม่ใช่สู้กับคนให้มีเรื่อง ต้องคิดบวก ไม่ใช่พร้อมบวก บ้านเมืองมันถึงจะวิวัฒน์ ถ้าติไปทุกเรื่องมันก็วิบัติ
แท็กที่เกี่ยวข้อง เครดิตบูโร ,หนี้ครัวเรือน