เศรษฐกิจ
ประชุมไตรภาคี ค่าแรง 400 บาทล่ม! เหตุฝ่ายนายจ้างไม่มาร่วม นัดใหม่ 20 ก.ย.
โดย nattachat_c
17 ก.ย. 2567
61 views
วานนี้ (16 ก.ย. 67) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 เป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่ 8 /2567 ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้คณะกรรมการไตรภาคี (ตัวแทนฝ่ายราชการ-ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง-ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง) พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในบางประเภท บางกิจการ ทั่วประเทศ ซึ่งจะให้มีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ขาดในส่วนของผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ทำให้ต้องมีการนัดประชุมครั้งที่ 2 ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ประชุมครั้งแรก เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82 (วรรค 2)
โดยได้มีการแจ้งนัดหมายประชุมนัดที่ 2 ในวันที่ 20 กันยายนนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปซึ่งอาจจะเป็นการขึ้นค่าจ้างในระดับ 400 บาท หรือไม่ถึง 400 บาทก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม ส่วนข้อกังวลที่แรงงานต่างด้าวจะได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มองว่า แรงงานไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม ยกตัวอย่างบริษัทขนาด L หรือ ขนาดใหญ่ จะมีสัดส่วนแรงงานไทย และต่างด้าว อยู่ที่ 3:1 หรือแรงงานไทย 3.4 ล้านคน ส่วนแรงงานต่างด้าวอยู่ที่ 1 ล้านคน ขณะที่ มาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ก็จะมีการหารือ และแจ้งมาตรการเพื่อสรุปเช่นกัน ทั้งมาตรการยกเว้นเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง และ การลดหย่อนภาษี
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อยากให้คณะกรรมการฝ่ายนายจ้าง เข้ามาใช้สิทธิ์ในการประชุม เพราะหากไม่ใช้สิทธิ์ ที่ประชุม จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย เชื่อว่าจะสามารถเดินหน้าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทได้ ภายในวันที่ 1 ต.ค. นี้ แน่นอน
โดยยอมรับว่า กระทรวงแรงงานในฐานะคนกลาง เข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และ เข้าใจทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง แต่ค่าครองชีพในปัจจุบันสูงเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำจะรับได้แล้ว จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณา โดยรัฐบาลจะพยายามทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยดีขึ้น
นายไพโรจน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่แบ่งสถานประกอบการเป็น 3 ประเภท คือ S M L ที่ประชุมครั้งนี้ เป็นการหารือเรื่องรายละเอียด ซึ่งจะประกาศอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไป แต่มีบางจังหวัดที่ขอขึ้นค่าจ้าง และบางจังหวัดไม่ขอเสนอปรับขึ้น ซึ่งฝ่ายลูกจ้างไม่ได้เห็นด้วย อยากให้ขึ้นให้ครบทุกกิจการ แต่ต้องดูความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของสถานประกอบการนั้น ๆ การประชุมวันนี้ จึงเป็นมติเพื่อทราบ สำหรับใช้ในการประชุมครั้งต่อไป
ด้าน นายวีรสุข แก้วบุญปัน คณะกรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า วันนี้ ไม่ได้ประชุม เพราะฝ่ายนายจ้างไม่เข้า ซึ่งถือว่าไม่ครบองค์ประชุมไตรภาคี วันนี้จึงได้หารือเกี่ยวกับแนวทางเศรษฐกิจที่จะจัดสรรต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าการประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งนี้ล่มหรือไม่ นายวีรสุข กล่าวว่า องค์ประชุมไม่ครบ ก็ต้องล่ม แต่ก็ยังมีหวังอยู่เหมือนเดิม
นายวีรสุข กล่าวว่า วันนี้ (16 ก.ย. 67) ฝ่ายนายจ้างไม่มาเป็นครั้งแรก แต่ถ้าครั้งถัดไป ยังไม่มา ก็โหวตได้เลย โดยใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน มาตราที่ 82 ซึ่งระบุว่า จะต้องมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด โดยมีกรรมการฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง อย่างน้อยฝ่ายละ 2 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม และต้องได้มติอย่างน้อย 2 ใน 3 ของกรรมการที่เข้าประชุม โดยในการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าไม่ได้องค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ในวรรค 2 ให้จัดให้มีการประชุมอีกครั้งหนึ่งภายใน 15 วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ต้องมาคุยกัน
นายอรรถยุทธ ลียะวณิช คณะกรรมการฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า วันนี้ ตนและคณะกรรมการฝ่ายนายจ้าง ได้ลาประชุมไว้ล่วงหน้า เนื่องจากภาคธุรกิจมักจะมีภารกิจในช่วงวันจันทร์ ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้
ทั้งนี้การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท จะเริ่มที่สถานประกอบการไซส์ L ที่มีจำนวนลูกจ้าง 200 ขึ้นไป ส่วนขนาด M จะดูเป็นจุด ๆ ส่วนขนาด S จะยังไม่มีการปรับ
ทั้งนี้ การประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งต่อไปจะเป็นวันที่ 20 ก.ย. 67 ซึ่งนายไพโรจน์ ได้กล่าวว่า ในวันนั้น ถ้าฝ่ายนายจ้างยังไม่มาร่วมประชุม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน สามารถให้ 2 ใน 3 ของที่ประชุม ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทได้เลย
ต่อมา ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ได้รับการเปิดเผยจากนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมว่า ติดภารกิจ กรรมการคนอื่นก็ไม่ว่างตรงกันและได้แจ้งต่อที่ประชุมไปแล้ว การประชุมก็ว่ากันไปจะเคาะค่าจ้างได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ ซึ่งปกติการประชุมค่าจ้างจะนัดทุกวันพุธที่ 2 ของเดือนและก็ทำอย่างนี้มาตลอด แต่ก็เลื่อนประชุมโดยที่ไม่สนใจว่า คนอื่นจะว่างเข้าประชุมได้หรือไม่ ส่วนในวันที่ 20 ก.ย. เลขาฯที่ประชุมยังไม่ได้มีการแจ้งนัดหมาย จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะไปประชุมได้หรือไม่ และการนัดแบบนี้เป็นการนัดแบบมัดมือชก
ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวหลังทราบการประชุมล่มว่า ขอความกรุณากรรมการฝ่ายนายจ้างควรเข้ามาใช้สิทธิในฐานะที่เป็นกรรมการไตรภาคี ส่วนที่ไม่มาเป็นการส่งสัญญาณอะไร หรือไม่นั้น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าจังหวัดเกือบทุกจังหวัด ทำหนังสือร้องเรียนมาว่า เขายังไม่พร้อมจะให้ขึ้นค่าจ้าง แต่วันนี้ สินค้าขึ้นราคาไปล่วงหน้าแล้ว หากรัฐบาลยังไม่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำผู้ใช้แรงงานคงรับไม่ไหว รัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแจกเงินให้ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ประมาณ 1.45 แสนล้านบาท เมื่อเงินก้อนนี้เข้าสู่ระบบจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ตนจะเอาปัจจัยนี้มาหารือปลัดกระทรวงแรงงาน ถ้าอย่างนี้คือ เราต้องเดินหน้าตามเป้าหมายคือ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค. นี้
ด้าน รองศาสตราจารย์ แล ดิลกวิทยรัตน์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน กล่าวว่า แนวคิดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เป็นแนวคิดเรื่องหลักประกันของการมีชีวิต อย่างเป็นรูปธรรมชองคนทำงาน ไม่เป็นหนี้สิน มีรายได้พอกิน
แต่ในปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำมันไม่พอกิน ซึ่งยอดหนี้ครัวเรือนที่ทะลุเพดานมากที่สุด มาจากครอบครัวผู้ใช้แรงงาน ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำต้องยึดปากท้องของแรงงาน แต่การมายึดจากพื้นที่เป็นสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง เพราะค่าสินค้าต่าง ๆ นั้น เท่ากันทุกที่
ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท มองว่ายึดนายจ้างเป็นคนหลัก แทนที่จะยึดที่แรงงาน ไม่ใช่ไปยึดจากฝ่ายนายจ้างที่จ่ายไหวไหม
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/oLexaqfbcCs