เศรษฐกิจ

เคาะ 1 ส.ค. รับซื้อปลาหมอคางดำโลละ 15 บาท ทุกจุดที่ระบาด ‘ธรรมนัส’ จ่อเสนอ ครม.เป็นวาระแห่งชาติ

โดย petchpawee_k

23 ก.ค. 2567

78 views

“ธรรมนัส” ถกประมงฯ 16 จว. จ่อเสนอ ครม.นัดหน้าเป็นวาระแห่งชาติ ชี้ เป็นสงครามสิ่งแวดล้อมต้องเร่งกำจัด ขณะที่ “ณัฐชา” ซัดกลางวง ปมงบรับซื้อ 50 ล้าน ลั่น เท่ากับงบกำจัดปลวกของกระทรวง  แนะประกาศเขตภัยพิบัติเร่งด่วน นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม ขอโทษ ปชช. เหตุเป็นต้นตอทำระบาด บอกต้องมีสามัญสำนึก

กรณี “ปลาหมอคางดำ” หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่แพร่ระบาดไปหลายจังหวัดนั้น ล่าสุด วานนี้  (22 ก.ค.2567) ที่สมาคมการประมงสมุทรสาคร อ.เมือง จ.สมุทรสาคร  ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  พร้อมด้วยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง  ประชุมร่วมกับนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ และตัวแทนคณะทำงาน ซึ่งเป็นประมงของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้ง 16 จังหวัด  ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสงคราม  จันทบุรี  ระยอง ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ  ราชบุรี  สมุทรสาคร  เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร  สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช  สงขลา  ตราด  ชลบุรี และ กทม.

ร้อยเอก ธรรมนัส  กล่าวว่า  การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นวาระแห่งชาติ   ซึ่งเรื่องของการปราบและการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มทำ แต่ทำมาแล้วตั้งแต่สมัยที่ตนเองเป็นรัฐมนตรีใหม่ ๆ  แต่มาตรการอาจจะไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ด้วยหลายปัจจัย  พร้อมกันนี้ ขอบคุณภาคการเมืองที่นำไปหารือกันในสภา จึงจะมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานในการแก้ไขปัญหา  และขอบคุณการยางแห่งประเทศไทย ที่จะรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 15 บาท แต่ที่ต้องระมัดระวังคือ ในขณะที่ประกาศจับตายปลาหมอคางดำ แต่ก็มีคนหัวใส  ซื้อปลาหมอในราคาที่ถูก เพื่อนำมาขายต่อ จึงขอว่าอย่าทำแบบนั้นเด็ดขาด รวมทั้งต้องห้ามประชาชนเพาะเพื่อขายด้วย นอกจากนี้ จะหารือร่วมกับชุมพล แจ้งไพร  นำปลาหมอคางดำ มาแปรรูปเป็นปลาร้า เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของคนอีสาน  เพิ่มมูลค่าจากกิโลกรัมละ 15 บาท เป็นเงินหมื่นล้าน

ส่วนที่มีการพูดถึงบริษัทเอกชนว่าเป็นต้นตอของการระบาด ก็ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไปตั้งคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุที่แท้จริงให้ชัดเจน เพราะการจะพูดกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐาน ก็หมิ่นเหม่ที่จะถูกฟ้องร้องได้

ด้านนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง  รายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาในส่วนของกรมประมง คือ   เรื่องแรก การรับซื้อปลาหมอคางดำ จะเริ่มรับซื้อ กิโลกรัมละ 15 บาท ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ทุกจุดพร้อมกันทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 49 จุด จากนั้นจะรวบรวมปลาหมอคางดำที่รับซื้อไว้ ไปให้สถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้การยางแห่งประเทศไทย นำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่  เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่สวนยางกว่า 200,000 ไร่

เรื่องที่ 2 คือการปล่อยปลานักล่า  กรมประมงได้คำรับแนะนำจากนักวิชาการ และทดลองแล้วว่า ปลากะพงขาวขนาด 4 นิ้ว สามารถปล่อยลงไปกำจัดปลาหมอคางดำขนาด 1-2 ซม.ได้  แต่ต้องปล่อยตอนที่กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำจนเหลือเบาบางแล้ว

เรื่องที่ 3 การนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากปลาหมอคางดำจะแพร่พันธุ์เร็ว ทำให้สัตว์น้ำอื่นถูกตัดตอน ทำลายระบบนิเวศน์  จึงต้องเร่งจับนำไปทำประโยชน์

เรื่องที่ 4 คือ การควบคุมไม่ให้แพร่ไปได้มากกว่านี้ เช่น เจอแล้วทำอย่างไรไม่ให้ระบาดไปในคลองอื่นๆ  

และเรื่องที่ 5 การทำหมัน เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ต้องใช้เวลา รอปล่อยปลาที่ทำการวิจัยใน เดือนธันวาคมนี้

ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม และประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ตัวแทนประมงจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ  ได้เสนอ 9 มาตราการต่อที่ประชุม ประกอบด้วย

1. ขอให้รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ  โดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานฯ

 2. พิจารณาออกประกาศให้ผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพในการใช้จับปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำสาธารณะตามความจำเป็น  โดยให้เป็นตามมติของ คณะกรรมการเฉพาะกิจแต่ละจังหวัด   โดยในที่ประชุมมีชาวประมงเสนอว่า วิธีการชอร์ตไฟฟ้า จะกำจัดปลาหมอคางดำได้ครั้งละเป็นตัน บางคนก็เสนอใช้สารเคมี แต่ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า ประเด็นนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน จะต้องไปตรวจดูข้อกฎหมายและหารือกับทุกฝ่ายอย่างรอบคอบอีกครั้ง

3. กำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนที่แหล่งน้ำสาธารณะ บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประชาชนที่มีปลาหมอคางดำระบาด  เพื่อใช้ในการวางแผนกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบ

 4. ให้ประมงจังหวัดแต่ละจังหวัด ร่วมกับสมาคมประมงในพื้นที่ เปิดลงทะเบียนเรือประมงที่จะมาเข้าร่วมกำจัดปลาหมอคางดำ  เพื่อควบคุมให้อยู่ในระบบข้อมูลทางการ

5. เสนอรัฐบาล จัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับชาวประมง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องมือ ค่าอุปกรณ์ ค่าแรงงาน สนับสนุนราคาปลาหมอคางดำในราคา 15 บาท ภายในระยะเวลาที่กำหนดที่ชัดเจน (3-6 เดือน) เพื่อเร่งรัดการกำจัด และป้องกันการลักลอบเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เป็นต้น

6. กำหนดให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด  

7. ให้คณะทำงานเฉพาะกิจจังหวัดต่างๆ ประสานความร่วมมือกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ช่วยแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำ

 8. ให้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจรับแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยตั้งกลุ่มไลน์และช่องทางสื่อสารอื่นๆ ในการรับแจ้งข้อมูลจากประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ว่าพื้นที่ใดมีปลาหมอคางดำระบาด

9. พื้นที่ไหนที่กำจัดปลาหมอคางดำจนเหลือน้อยแล้ว ให้เริ่มปล่อยปลานักล่าตัวใหญ่จำนวนมากพอ ลงไป  เพื่อให้ปลานักล่า  กินลูกปลาหมอคางดำ ตัดวงจรชีวิตปลาหมอคางดำให้หมดไปโดยเร็ว หลังจากนั้น ให้ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ   เช่น การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นทดแทน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส รับข้อเสนอไว้เพื่อแก้ปัญหาต่อไป

ช่วงหนึ่งของการประชุม  นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.บางขุนเทียน พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นต้องย้ำว่าผ่านมาแล้ว 8 อธิบดี กับ 7 รัฐมนตรี จะได้รู้ว่ามันแก้ไม่ได้  แต่ตอนนี้เข้าใกล้เส้นชัยมากแล้ว  พร้อมเสนอให้ประกาศเขตภัยพิบัติทั้ง 16 จังหวัด   ยกตัวอย่างในเขตบางขุนเทียน มีการระบาดมากกว่า 800 บ่อแล้ว รัฐบาลต้องช่วยเหลือเยียวยาเพื่อไม่ให้เกษตรกรเปลี่ยนอาชีพ  ไม่ให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระในการลงทุนใหม่

 แต่สิ่งที่กังวล คือ งบประมาณรับซื้อปลาหมอคางดำ 50 ล้านบาท จากการยางแห่งประเทศไทย  ซึ่งจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งเป้าไว้ว่าจะรับซื้อ 2 แสนกิโลกรัมภายในสองเดือน เท่ากับว่างบประมาณในการรับซื้อ จะใช้ได้เพียงจังหวัดหรือสองจังหวัดก็หมดแล้ว

 “นายกรัฐมนตรีบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องแก้ไขปัญหา แต่ให้งบประมาณเท่ากับงบกำจัดปลวกของกระทรวง ขออนุญาตท่านรัฐมนตรีพูดอย่างตรงไปตรงมา”

นายณัฐชา ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะ 2 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้กรมบัญชีกลาง ตอบกรมประมงว่าสามารถประกาศเขตภัยพิบัติได้หรือไม่  2.งบประมาณแก้ปัญหาปลาหมอคางดำในแต่ละจังหวัดต้องมีความชัดเจน

นายณัฐชา ระบุว่า ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่วิกฤตที่สุด ที่มีระบาดมาในลุ่มน้ำของไทย // และวิกฤตทั้งหมดนี้จะเปลี่ยนท่านให้เป็นวีรบุรุษหากท่านทำได้ แต่หากทำตามงบ 50 ล้าน  ก็คิดว่าเราต้องส่งวิกฤตนี้ให้รุ่นต่อไป

ด้านร้อยเอกธรรมนัส ยืนยันว่า  กำลังเสนอเป็นวาระแห่งชาติ   หมายถึงว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่เปรียบเสมือนเกิดสงครามในบ้านเมือง  ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสงครามที่ทำลายสิ่งแวดล้อมพอๆกับโควิด19

ส่วนเงิน 50 ล้านบาทจากการยางแห่งประเทศไทย ไม่เพียงพอแน่นอน  ในการประชุม ครม.ครั้งถัดไป  จะเสนอให้เป็นวาระแห่งชาติ  เพื่อจัดสรรงบกลางมาแก้วิกฤตอย่างเร่งด่วน  พร้อมฝากไปถึงกรมบัญชีกลาง ว่า หากทุกพื้นที่ประกาศเป็นภัยพิบัติ  ประชาชนเดือดร้อน  กรมบัญชีกลางจะยังเห็นค้านอยู่หรือไม่  พร้อมฝากรัฐมนตรีช่วยอรรถกร  ฝากอธิบดีกรมฯ ปลัดกรมฯ ไปคุยกับรัฐมนตรีผู้ดูแลกรมบัญชีกลางด้วย เพราะตอนนี้ชาวบ้านจะตายอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่า ในปี 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงขอเข้าตรวจสอบที่บ่อเพาะเลี้ยงของบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร  เพื่อหาสาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีการทอดแหจับปลาหมอคางดำในบ่อ เก็บตัวอย่างครีบและชิ้นเนื้อมารักษาไว้ที่ห้องเก็บตัวอย่างของกรมประมงนั้น จะให้นายบัญชา ขยายความรายละเอียดเรื่องนี้อีกครั้งในวันนี้ (23 ก.ค.67) ที่กรมประมง

โดยในเบื้องต้นกรมประมง ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของการระบาด ให้ได้ข้อสรุปภายใน 7 วัน   รวมทั้งพิจารณาข้อกฎหมาย ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีบทลงโทษ แก่ผู้ก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำหรือไม่  หากเอาผิดทางอาญาและทางปกครองด้วยการเรียกค่าเสียหายไม่ได้  อาจต้องใช้มาตรการรับผิดชอบทางสังคม

ขณะที่นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม และประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้กล่าวขอโทษพี่น้องประชาชน  ที่ จ.สมุทรสงคราม เป็นต้นตอในการระบาด  เนื่องจากรู้สึกว่าปลาหมอคางดำเริ่มระบาดจากจังหวัดสมุทรสงคราม  ตนในฐานะที่เป็นนายกสมาคมฯ และเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม   แม้ตอนนี้จะหาคนผิดไม่ได้ แต่ก็ต้องมีสามัญสำนึกของคนในจังหวัด เราจึงออกมาขอโทษ



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/S3HZ7Qug61o

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ปลาหมอคางดำ ,ธรรมนัสพรหมเผ่า

คุณอาจสนใจ

Related News