เศรษฐกิจ

ครม.เห็นชอบ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วไทย - ประชุมไตรภาคีเดือด เสียงแตกล้มสูตรค่าจ้างล่าสุด

โดย nattachat_c

15 พ.ค. 2567

158 views

วานนี้ (14 พ.ค. 67) เวลา 12.30 น. ครม.สัญจร ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อ.เมือง จ.เพชรบุรี นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบที่กระทรวงแรงงานได้เสนอรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้าง 400 บาท/วัน เท่ากันทุกจังหวัด ทั่วประเทศ


นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า การกำหนดอัตราค่าจ้าง 400 บาท/วัน เท่ากันทุกจังหวัด ทั่วประเทศ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ เดือนกันยายน-ตุลาคม 2567


และกล่าวว่า “กระทรวงแรงงานพร้อมรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ กรณีที่จะมีการปรับค่าจ้างเป็น 400 บาททั่วประเทศ เพื่อหาวิธีช่วยเหลือ ซึ่งจำเป็นต้องรู้ว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างไร จึงจะหามาตรการช่วยได้ และจะนำข้อมูลเกี่ยวกับการปรับค่าจ้าง เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบด้วย”

---------------

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ หอการค้า 76 แห่ง / สมาคมการค้า 95 แห่ง / สภาองค์กรนายจ้าง 16 แห่ง / สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เคลื่อนไหวเรียกร้อง ไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ  


รวมทั้ง ให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 41 แต่จะให้ยกระดับรายได้ลูกจ้างด้วยการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน แทนที่จะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ


และการปรับอัตรค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ และบางธุรกิจ ควรจะฟังความเห็นของเอกชน และตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 79 บอกไว้ว่า คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามความแหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม 


การที่รัฐบาลมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ ก่อนคณะกรรมการค่าจ้างจะมีมติ จะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร หรือจะเป็นการแทรกแซงหรือไม่อย่างไร

---------------

วานนี้ (14 พ.ค.) ผุ้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ ไตรภาคี ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนฝั่งนายจ้าง-ลูกจ้าง และรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน โดยมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน เพื่อพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เป็นไปอย่างเคร่งเครียด และถูกจับตามองจากทุกฝ่าย เพราะที่ผ่านมา มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าเเรง 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ


ที่ประชุมมีมติ 7 ต่อ 5 ให้ยกเลิกสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างล่าสุด และให้อนุกรรมการระกับจังหวัด เสนอสูตรค่าจ้างใหม่ ภายใน 2 เดือน โดยที่ยกเลิกการกำหนดเพดานค่าจ้างด้วย เท่ากับว่า สูตรที่เสนอมาใหม่จะเป็นเท่าไหร่ก็ได้

---------------

ทั้งนี้ ก่อนที่การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างจะเริ่มขึ้น มีตัวแทนจาก 16 สภาองค์กรนายจ้าง นำโดย นายนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ตบเท้าเข้ายื่นหนังสือกับปลัดกระทรวงแรงงาน คัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ


โดยเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุน ในประเทศไทย พร้อมย้ำว่า การปรับค่าแรงต้องยึดมติคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งการขึ้นค่าจ้างครั้งต่อไป ต้องรอปีหน้าถึงจะเหมาะสม หากยังดื้อดึงจะขึ้นค่าจ้าง ธุกิจเอสเอ็มอีจะตายกันหมด และต้องลดแรงงานแน่นอน

---------------

ต่อมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความเข้มข้น และไม่ยอมแถลงร่วมกัน แต่ขอแยกแถลงเป็นรายคน โดยนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง ออกมาจากห้องประชุมด้วยสีหน้าที่เคร่งเครียด พร้อมบอกว่าปลัดแรงงานทำน่าเกลียด คือดูเร่งรีบเกินไปที่จะให้อนุกรรมการค่าจ้างรายจังหวัดไปหารือตัวเลขใหม่


พร้อมยกเลิก สูตรการคำนวณค่าจ้างที่มีมติกันไปแล้วจากการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทั้งที่คณะกรรมการค่าจ้างมีตารางปฏิบัติกำหนดอยู่แล้ว คือ เดิมอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างรายจังหวัดต้อง เก็บข้อมูลตั้งแต่ปลายปีก่อนหน้า นำมาจนถึง 30 สิงหาคม


พร้อมนำตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์ในส่วนของเงินเฟ้อ ราคาสินค้า ค่าครองชีพ และจีดีพี ที่จะออกมาในช่วงเดือนกันยายนมาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน


จากนั้น ส่งให้อนุกรรมการวิชาการ และกลั่นกรองในเดือนตุลาคม แล้วจึงส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่พิจารณาในเดือนพฤศจิกายน ก่อนประกาศให้มีผลบังคับใช้ 1 มกราคมในปีถัดไป ซึ่งฝั่งนายจ้างเป็นห่วงว่าการเร่งรีบเกินไปจะทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอ

---------------

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานปลัดกระทรวงแรงงาน ยอมรับว่า บรรยากาศในที่ประชุมค่อนข้างดุเดือด มีการถกเถียงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้ได้ข้อสรุป


โดยที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างล่าสุด โดยนักวิชาการที่ปรึกษาเสนอให้อนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างรายจังหวัดแต่ละจังหวัดคำนวณตัวเลขมาว่าแต่ละจังหวัดจะขึ้นค่าจ้างในอัตราเท่าไหร่ และให้กำหนดวันที่จะบังคับใช้ด้วยว่าควรบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2567 หรือ 1 มกราคม 2568 โดยขึ้นอยู่กับปัจจัย ค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และราคาสินค้าของแต่ละจังหวัดด้วย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นแบบกึ่งลอยตัว ด้วยแต่ละจังหวัดก็จะมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้อาจจะสูง หรือต่ำกว่า 400 บาทก็ได้ หรือบางจังหวัดอาจจะไม่เสนอปรับขึ้นก็แล้วแต่ โดยให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ก่อนนำมาหารือในคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่อีกครั้ง ซึ่งน่าจะตรงกับช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนการประชุมชุดใหญ่ครั้งจะมีขึ้นในวันที่ 19 มิถุนายน อาจจะพูดคุยในประเด็นของกลุ่มผู้ประกันตนและผู้ไม่ได้ประกันตน


พร้อมยืนยันว่า คณะกรรมการค่าจ้าง หรือ ไตรภาคี ไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือจากรัฐบาลเพื่อกดดันให้นายจ้างปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลให้ขึ้นค่าจ้างได้ ส่วนประเด็นที่ฝั่งนายจ้างตั้งข้อสังเกตว่า ขั้นตอนการเสนอปรับขึ้นอัตราค้าจ้างขั้นต่ำเร่งรีบกว่าปกติ ยืนยันว่า เป็นไปตามขั้นตอน และที่ประชุมมองว่าการรวบรวมข้อมูลของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างรายจังหวัด ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เป็นเวลาที่เหมาะสม


ส่วนประเด็นที่เอกชนร้องว่าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 1 ครั้งต่อปี เข้าข่ายผิดกฏหมายมาตรา 87 นั้น ปลัดแรงงาน ยืนยันว่ากฏหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้กี่ครั้งต่อปี ซึ่งครั้งนี้ก็ขึ้นไปแล้ว 2 รอบ หากขัดหลักกฎหมายจริง เอกชนควรจะร้องเรียนตั้งแต่รอบที่ผ่านมาแล้ว

-----------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/AXjmED5PFvk

คุณอาจสนใจ

Related News