เศรษฐกิจ

วุ่นแน่! หอการค้า ค้านขึ้นค่าแรง 400 บ. ทั่วประเทศ ด้านกลุ่มลูกจ้าง ยันสินค้าแพงทุกจังหวัด ต้องขึ้นเท่ากัน

โดย nattachat_c

14 พ.ค. 2567

43 views

วันนี้ (14 พ.ค. 67) กรรมการไตรภาคีจะประชุมกัน


ซึ่งไตรภาคี ประกอบด้วย 3 ภาคส่วนคือ 

1. ภาครัฐ 5 คน (กระทรวงแรงงาน)

2. ภาคนายจ้าง 5 คน (เป็นตัวแทนสภานายจ้าง)

3. ภาคลูกจ้าง 5 คน (เป็นตัวแทนสภาลูกจ้าง)


ซึ่งจะพิจารณาหลักการเกี่ยวกับคำประกาศของรัฐมนตรีแรงงานที่เสนอผ่านไตรภาคี โดยปลัดกระทรวงเข้าไปว่า 1 ตุลาคม จะมีเป้าหมาย ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น 400 บาท ทั่วประเทศ ทุกกิจการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายปี 70 ค่าจ้างขั้นต่ำ 600 งบาท

------------------

วานนี้ (13 พ.ค. 67) เวลา 08.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. เข้าส่งหนังสือร้องเรียนถึง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมแสดงสัญลักษณ์ในการ “สนับสนุนปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่เท่ากันทั้งประเทศ”


โดยมีการนำสาธารณูปโภคและป้ายราคามาติดไว้ เช่น ครก สากกะเบือ ราคา 400 บาท น้ำมัน 90 บาท ไข่ไก่ 45 บาท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 7 บาท ผัก 20 บาท และติดป้าย “แพง” ไว้ด้วย พร้อมทั้งเซ็นชื่อกำกับลงบนครก เพื่อการันตีว่าจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท


นายสาวิทย์ให้สัมภาษณ์ว่า สสรท.ได้มีความพยายามขับเคลื่อนเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ที่ผ่านมาได้มีการเสนอตัวเลขหลายตัวที่ได้มาจากการสำรวจทั่วประเทศ สูงสุดที่เคยเสนอคือ 712 บาท ดูแล้วเหมือนจะไปลำบากก็เลยปรับมาที่ 492 บาท ซึ่งเป็นการเสนอเชิงประนีประนอมแต่สิ่งที่เราต้องการที่สุดคือ ต้องการให้อัตราค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ


“วันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ประกาศบนเวทีเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ประกาศว่า 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและน่ายินดี เพราะราคาสินค้าเท่ากันทั่วประเทศ ชีวิตของประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผูกพันอยู่กับร้านสะดวกซื้อ ซึ่งทั่วประเทศก็มีอยู่หลายค่าย รวม 3-4 หมื่นร้าน ส่วนร้านโชห่วยเล็กๆ ก็ปิดหมดแล้ว ซึ่งราคาสินค้าทั่วประเทศตามที่เราได้สำรวจไป ในสินค้าชนิดเดียวกัน โดยให้พี่น้องแรงงานทั่วประเทศซื้อมาแล้วส่งใบเสร็จมาที่เรา ปรากฏว่าราคาเท่ากันทั้งประเทศ ฉะนั้น จะไม่มีเหตุผลที่จะทำให้อัตราค่าจ้างต่างกัน เพราะจะเกิดความเหลื่อมล้ำ จะทำให้แรงงานที่อยู่ในชนบท อพยพเข้าสู่เขตค่าจ้างที่สูงกว่า ก็จะทำให้ชนบทแทบไม่มีแรงงานหนุ่มสาว ดังนั้น ถ้าค่าจ้างเท่าเทียมกัน และมีการสร้างระบบความปลอดภัยสิ่งแวดล้อมให้ดี เราก็ทำให้ประเทศทั้งหมดเจริญไปด้วยกันได้” นายสาวิทย์กล่าว


นายสาวิทย์ก ล่าวต่อว่า นอกเหนือจากเรื่องของการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว เราก็เสนอว่าให้มีการควบคุมราคาสินค้า เพราะถ้าคนงานไม่เรียกร้องขึ้นค่าจ้างแล้วชีวิตคนงานจะอยู่อย่างไร ซึ่งเมื่อปรับขึ้นแล้วกลุ่มทุนก็อาจจะกำไรลดลงแต่ไม่ถึงขั้นล้มละลาย ตนจึงอยากขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่ออกมาคัดค้าน ซึ่งเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท จะเกิดประโยชน์ให้กับประเทศ และยังสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างยั่งยืน เพราะคนงานส่วนใหญ่ได้เงินมาก็ซื้อหมด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ต่างต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งจะสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืนด้วย


ด้าน นายพิพัฒน์กล่าวว่า ยืนยันถึงเจตนารมณ์ในการปรับค่าจ้าง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ต้องเข้าใจว่ามันจะปรับค่าแรง 400 ทั่วประเทศไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ตามที่คิดและตั้งใจทั้งหมด แต่ก็จะเดินหน้าไปพร้อมกันตน และปลัดกระทรวง ข้าราชการจะสู้เพื่อชาวแรงงานอย่างเต็มที่ เพราะมีการปรับค่าจ้าง 300 บาทตั้งแต่ปี 2554 ผ่านมากกว่า 10 ปี วันนี้ ค่าจ้างยังก้าวไปไม่ถึง 400 บาท


นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณากับค่าจ้างซึ่งได้มีการหารือกันแล้วคิดว่าถึงเวลาที่ต้องปรับ 400 บาท เพื่อเป็นก้าวแรกก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างในอัตรา 600 บาท ในปี 2570 โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นเมื่อมีการปรับค่าจ้าง


ส่วนกระทรวงแรงงานจะหารือสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ และ sme เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านภาษี และการอัพสกิล รีสกิล ให้กลุ่มลูกจ้าง โดยยืนยันจะทำให้เร็วที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย

------------------

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และรองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมด้วยผู้แทนหอการค้าจังหวัด และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ) เป็นประธาน ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน โดยมีสาระสำคัญดังนี้


หอการค้าไทย ได้ยื่นหนังสือคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยได้หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น 94 สมาคมการค้า ร่วมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศดังกล่าว โดยยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ตามหลักกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541


ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ขอนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ดังนี้


1) หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เห็นด้วยกับการมุ่งมั่นตั้งใจยกระดับรายได้เพื่อแรงงานไทยในประเทศไทยและวิถีชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้น ก็สามารถทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้แล้วเช่นกัน


2) ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้ง ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3


3) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)


4) การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นและศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ดังกล่าว


ด้าน นายสุชาติ จันทรานคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า ในปีนี้ ปรับค่าจ้างแล้วถึง 2 ครั้ง (ล่าสุด 13 เมษายน) แล้วจะครั้งที่ 3 ในเดือนตุลาคมนี้ เห็นว่าไม่สมเหตุผลตามดัชนีชี้วัด แต่ก็พร้อมให้ความร่วมมือในการหารือว่า จะทำอย่างไรให้การปรับค่าจ้างเป็นธรรม ที่ต้องอยู่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

------------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/Snsauf1zjTA

คุณอาจสนใจ

Related News