เศรษฐกิจ

สภาพัฒน์เผย GDP ทั้งปี 66 ขยายตัวแค่ 1.9% ร้องแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย-ลดอัตราผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิต

โดย nattachat_c

20 ก.พ. 2567

38 views

วานนี้ (19 ก.พ.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4 ปี 66 ขยายตัว 1.7% เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 66 ขยายตัว 1.9% ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า จะขยายตัวได้ 2.5%


โดยในไตรมาส 4 ปี 66 พบว่า การลงทุนภาครัฐติดลบเพิ่มขึ้นมาก จากไตรมาสก่อนหน้ โดยติดลบถึง 20.1% จากไตรมาส 3 ที่ติดลบ 3.4% และลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 เนื่องจาก ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 67 ส่งผลให้การลงทุนรวมติดลบ 0.4% ขณะที่การอุปโภคของภาครัฐบาล ติดลบ 3% ส่วนมูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ที่ 4.6%


ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 66 ชะลอตัวลงจากปี 65 ที่ขยายตัว 2.5% ตามการลดลดลงต่อเนื่องของภาคการส่งออกที่ติดลบ 1.7% รวมทั้งการลดลดลงของการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐที่ติดลบ 4.6% ทั้งคู่ ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนด้านเอกชนรวมทั้งการส่งออกบริการยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี


นอกจากนี้ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 67 โดยคาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.2 ถึง 3.2% มีค่ากลางอยู่ที่ 2.7% โดยยังไม่รวมผลจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จากก่อนหน้าที่เคยประเมินว่าจะโตได้ 2.7-3.7% เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ แม้ภาคการส่งออกจะฟื้นตัวก็ตาม


พร้อมเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการลดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ กับดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อช่วยลดต้นทุนธุรกิจเอสเอ็มอี และภาคครัวเรือนอย่างจริงจัง ซึ่งคงต้องพิจารณาอัตราอัตราแลกเปลี่ยนด้วย โดยเชื่อว่า ธปท. จะพิจารณาพิจารณาอย่างรอบด้านในช่วงเวลาที่เหมาะสม


นอกจากนี้ ขอให้พิจารณาปรับลดอัตราการชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำกลับมาอยู่ที่ 5% จากเดิมที่ 8% อีกซักระยะหนึ่ง เพื่อช่วยภาคครัวเรือนกับเอสเอ็มอีบางส่วนที่ใช้บัตรเครดิตในการทำธุรกิจ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็ควรจะพิจารณาควบคู่ไปด้วย และหากเห็นเอสเอ็มอีรายใดชำระหนี้ในอัตราขั้นต่ำมายาวนาน ควรจะนำมาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิด NPL รวมถึงให้ภาครัฐมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูก และสินค้าเลี่ยงภาษีที่ทะลักเข้าไทย

-------------
วานนี้ (19 ก.พ. 67) นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน แบงก์ชาติ กล่าวว่า พร้อมหารือร่วมกับสภาพัฒน์ ในประเด็นให้ปรับลดอัตราการผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% จาก 8% เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่องเพิ่มเติม เพื่อหาข้อดี และข้อเสีย ของการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว


แต่อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราผ่อนขั้นต่ำลง ระยะสั้นอาจช่วยลูกหนี้ให้มีภาระผ่อนลง


แต่ในระยะยาว ลูกหนี้อาจต้องเผชิญกับภาระผ่อนที่ยาวนานมากขึ้น เช่น หากเทียบวงเงินบัตรที่ 80,000 บาท ดอกเบี้ยที่ 16% หากลูกหนี้ผ่อนชำระขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ โดยผ่อนต่องวดเกิน 500 บาท จะต้องจ่ายไปอีก 8 ปี 6 เดือน โดยรวมดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แบงก์ จากการจ่ายขั้นต่ำอยู่ที่ 27,000 บาท


ขณะเดียวกัน หากลูกหนี้จ่ายขั้นต่ำไม่เกิน 500 บาท หรือที่ราว 5% ลูกหนี้จะต้องชำระไปเรื่อย ๆ และต้องใช้ระยะเวลาปิดหนี้ไปถึง 10 ปี 3 เดือน ยอดหนี้ถึงจะหมด


ดังนั้น แม้จะดีระยะสั้น แต่เป็นการสร้างหนี้ในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการผ่อนชำระขั้นต่ำดังกล่าวไปเรื่อย ๆ ผลประโยชน์จะตกไปอยู่กับเจ้าหนี้ ที่จะได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในระยะเวลานานขึ้น

--------------

แท็กที่เกี่ยวข้อง  สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ,ดนุชา พิชยนันท์ ,ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ,อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ,แบงก์ชาติ ,ประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 67 ,อัตราการผ่อนขั้นต่ำบัตรเครดิต ,กนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ,เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ,ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ,ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

คุณอาจสนใจ

Related News